ไทย-ลาว-เมียนมาร์ จับมือร่วมประชุมนานาชาติ จุดผ่านแดน “ภูดู่” เส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเศรษฐกิจ 3 ดินแดน หวังกระตุ้นการเติบโต 5 ด้าน

13 Jul 2015
ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติ "ภูดู่: ประตูแห่งมิตรภาพและโอกาส" โปรโมทเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเมียนมาร์-ไทย-ลาว ผ่านด่านแม่สอด จ.ตาก และด่านภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ เตรียมพร้อมเจรจาหาความร่วมมือกับตัวแทนภาครัฐและเอกชน 3 ประเทศ ยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจอินโดจีน หวังกระตุ้นการเติบโต 5 ด้าน การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา สุขภาพ และโลจิสติกส์ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ไทย-ลาว-เมียนมาร์ จับมือร่วมประชุมนานาชาติ จุดผ่านแดน “ภูดู่” เส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเศรษฐกิจ 3 ดินแดน หวังกระตุ้นการเติบโต 5 ด้าน

โครงการประชุมนานาชาติ ระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไย เรื่อง "ภูดู่" ประตูแห่งมิตรภาพและโอกาส (Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor (LIMEC) International Conference "PhuDoo" Gate of Companionship and Opportunities) จัดขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 อันประกอบไปด้วย จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัด พิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดตาก และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยคาดการณ์จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำและกลไกหลักของทั้ง 3 ประเทศ จำนวน 300 คน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาอุตสาหกรรม หอการค้า สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ชมรมธนาคาร นักธุรกิจ นักลงทุน จึงนับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการเจรจาตกลงการค้าการลงทุนร่วมกัน

นายวิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวถึงโครงการประชุมนานาชาติฯ ว่า "การจัดประชุมนานาชาติระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไย ในปีนี้ ถือเป็นครั้งแรกในการร่วมมือกันของ 5 จังหวัด และเป็นการจัดประชุมนานาชาติ (International Conference) ครั้งแรกในพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ทั้งนี้โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว 5 ปี โดยแต่ละจังหวัดในกลุ่ม 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง จะผลัดเปลี่ยนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจนครบ"

นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการทีเส็บ ในฐานะผู้ร่วมจัดการประชุมนานาชาติระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย เรื่อง "ภูดู่" ประตูแห่งมิตรภาพและโอกาส กล่าวว่า "ภายใต้พันธกิจในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดประชุมสัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้า หรืออุตสาหกรรมไมซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดไมซ์ในประเทศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยการจัดการประชุมในครั้งนี้ ทีเส็บยังผลักดันให้เกิดการจัดงานแสดงสินค้า การจับคู่ทางธุรกิจ รวมถึงจัดสำรวจเส้นทางการจัดงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่ชายแดนรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สอดรับนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งยังแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางในการจัดประชุมสัมมนาและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ควบคู่ไปกับเพิ่มโอกาสทางการตลาดและทางธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV ให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไทย สะท้อนความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศไทยให้แก่ผู้เดินทางธุรกิจ และผู้วางแผนและผู้จัดการประชุมที่มีศักยภาพในต่างประเทศ

ด้านรายละเอียดของการประชุมฯ นายฐิติ วิศวชัยวัฒน์ ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ในฐานะแกนกลางในการจัดประชุมนานาชาติ กล่าวว่า "ประเด็นหลักในการประชุมฯ จะครอบคลุมถึงโอกาสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ5 ด้าน ได้แก่ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา สุขภาพ และโลจิสติกส์ มีการบรรยายโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ รวมถึง การเปิดเวทีแห่งการเจรจาธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ซึ่งภายในงานจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) และบันทึกความร่วมมือ (MOA) ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้ไปศึกษาดูงานในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ทั้งตาก อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก เพื่อแสดงให้นักลงทุนและผู้ประกอบการชาวต่างชาติได้เห็นถึงศักยภาพด้านต่างๆ ของไทย และเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไยนี้ จะเป็นอีกกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้ง 3 ให้เติบโตไปด้วยกัน"

ความสำคัญทางเศรษฐกิจของด่านภูดู่ได้ทวีความสำคัญขึ้นอย่างมาก หลังการเปิดด่านภูดู่ อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ เป็นจุดผ่านแดนถาวร เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าการค้าชายแดนภูดู่จากปีละประมาณ 200-300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็นปีละ 700-1,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตมากกว่า 300% จากความได้เปรียบของทำเลที่ตั้งติดกับแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ซึ่งกำลังเจริญเติบโตในทุกด้าน และมีเส้นทางเชื่อมไปยังแขวงหลวงพระบาง แหล่งท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกของลาว นอกจากนี้ การเปิดเส้นทางเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไยผ่านด่านแม่สอด และด่านภูดู่ ก็จะทำให้กลุ่ม 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างของไทยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ระหว่าง 3 ประเทศ กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนทั้งเม็ดเงิน แรงงาน ความรู้ วัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงช่วยยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจอินโดจีน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้เป็นอย่างดี

"การจัดประชุมนานาชาติฯ ในปีแรกนี้ จะเปิดโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้านได้เรียนรู้และได้เห็นศักยภาพของ จังหวัดต่างๆ ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งล้วนมีศักยภาพและความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ จังหวัดตากมีด่านถาวรแม่สอดที่เป็นแหล่งการค้าการลงทุนที่มีมูลค่าสูงในภูมิภาคนี้ จังหวัดสุโขทัยมีอุทยาน ประวัติศาสตร์สุโขทัยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จังหวัดเพชรบูรณ์มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม จังหวัดพิษณุโลกก็เป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษา ธุรกิจด้านสุขภาพ รวมถึงเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคนี้ และจังหวัดอุตรดิตถ์มีด่านถาวรภูดู่ ติดกับสปป.ลาว ซึ่งมีมูลค่าการค้าขายชายแดนสูงแบบก้าวกระโดด จึงนับได้ว่าทุกจังหวัดมีความพร้อมที่จะนำศักยภาพของจังหวัดเป็นตัวเชื่อมโยงมิตรภาพและสร้างโอกาสในด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว ธุรกิจสุขภาพ การศึกษา และโลจิสติกส์ อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งจะก่อให้เกิด business matching ขึ้นภายใต้ความร่วมมือของภาคเอกชนและภาคราชการ" นายวิทูรัช กล่าวเพิ่มเติม

"เราหวังว่าการประชุมนี้จะเป็นเวทีในการศึกษาถึงความต้องการ ปัญหา อุปสรรคและแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ และเปิดโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ประเทศไทย กับแขวงไซยะบุรี และแขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมถึงรัฐมอญ และรัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ อันจะส่งผลให้มิตรประเทศทั้ง 3 ประเทศ ได้รู้จัก เข้าใจ และใกล้ชิดกันมากขึ้น" นายฐิติ กล่าวทิ้งท้าย

ไทย-ลาว-เมียนมาร์ จับมือร่วมประชุมนานาชาติ จุดผ่านแดน “ภูดู่” เส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเศรษฐกิจ 3 ดินแดน หวังกระตุ้นการเติบโต 5 ด้าน ไทย-ลาว-เมียนมาร์ จับมือร่วมประชุมนานาชาติ จุดผ่านแดน “ภูดู่” เส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเศรษฐกิจ 3 ดินแดน หวังกระตุ้นการเติบโต 5 ด้าน ไทย-ลาว-เมียนมาร์ จับมือร่วมประชุมนานาชาติ จุดผ่านแดน “ภูดู่” เส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเศรษฐกิจ 3 ดินแดน หวังกระตุ้นการเติบโต 5 ด้าน