นายสากล ฐินะกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ กล่าวว่า ถุงพลาสติกเป็นของใช้ที่มีอายุใช้งานสั้น พร้อมเป็นขยะทันทีหลังการใช้ แม้ปัจจุบันถุงพลาสติกบางชนิดจะสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากเพราะย่อยสลายได้ยากและใช้เวลานานในการย่อยสลาย ปัญหาขยะถุงพลาสติกที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติก ที่เกินจำเป็นและการทิ้งขยะถุงพลาสติกไม่ถูกที่ ทำให้ขยะถุงพลาสติกตกค้างอยู่ทั่วไป เกิดความสกปรกและไม่เป็นระเบียบ ดังนั้น หากเรารู้จักใช้ถุงพลาสติกให้คุ้มค่ามากที่สุดก่อนทิ้ง และทิ้งในภาชนะที่จัดไว้ให้อย่างเป็นระเบียบ ก็ย่อมจะทำให้ปัญหาขยะถุงพลาสติกบรรเทาลงได้ หรือเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้แล้วใช้ซ้ำได้หลายๆ ครั้ง เช่น ตะกร้า ปิ่นโต กล่องข้าว หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ก็ย่อมจะทำให้ปัญหาขยะถุงพลาสติกบรรเทาลงได้ โดยเฉพาะ เยาวชนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า การปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน จะเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวพวกเขาไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการที่เยาวชนรวมพลังกันเพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ สร้างค่านิยมใหม่ ในเรื่องของการรู้จักคิด รู้จักใช้ เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ลดปริมาณขยะ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อม เป็นการเสริมสร้างวินัยให้กับเยาวชนในเรื่องการทิ้งขยะและแสดงให้เห็นว่าการทำความดีเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง น่าภาคภูมิใจ จะเป็นการนำไปสู่การยึดถือเป็นแบบอย่างและจะกระตุ้นให้เกิดการดำเนินกิจกรรมและสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไป
ขณะที่ นางพนิดา วิชัยดิษฐ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงโครงการว่า สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สพฐ.) มีพันธกิจร่วมกันในการส่งเสริมเยาวชนไทยลดใช้ถุงพลาสติก โดยให้ความร่วมมือและสนับสนุน การดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายเยาวชนไทยลดใช้ถุงพลาสติก "คิดถุ๊ง คิดถุง" ดังกล่าวให้ลุล่วงในพื้นที่นำร่อง อย่างต่อเนื่อง และยินดีช่วยกันขยายผลความสำเร็จที่เป็นประโยชน์ต่อการปลูกฝังทักษะที่ให้เยาวชน ด้วยการบูรณาการความรู้ของเยาวชนไปพร้อม ๆ กับปฏิรูปการศึกษาในปี 2558 เน้นสร้างคุณภาพการศึกษากับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับพัฒนาการเรียนรู้กิจกรรม
การรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกจึงเป็นกิจกรรมที่มุ่งกระบวนการเรียนรู้เพื่อเรียน (Learning how to learn) ในความเป็นพลเมืองดี มีวินัย มีคุณธรรม ศีลธรรม และมีทักษะการเรียนรู้ การใช้ชีวิต ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งนี้การส่งเสริมให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาในแต่ละโรงเรียนได้เป็นเครือข่ายมีกิจกรรมร่วมกัน ถือเป็นการแบ่งปันแชร์องค์ความรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เยาวชนได้มีทั้งทักษะชีวิตและการทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ด้าน นายบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า บริษัทฯ มีนโยบายหลักด้านการสร้างสรรค์สังคม คือส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน และด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องถุงพลาสติก จึงมีโครงการพิเศษ "สร้างเครือข่ายเยาวชนไทย ลดใช้ถุงพลาสติก" โดยในปี 2557 ซีพี ออลล์ ได้เริ่มจัดตั้งเครือข่ายเยาวชนไทยลดใช้ถุงพลาสติก ที่โรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี , โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต และ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็น 3 โรงเรียนแรกที่มีศักยภาพทั้งความเป็นแกนนำและมีความมุ่งมั่นขยายโรงเรียนเครือข่ายฯ ลดใช้ถุงพลาสติก ไปสู่พันธมิตรโรงเรียนอีกหลายแห่ง ซึ่งผลของการดำเนินการมีโรงเรียนเครือข่ายที่เข้าร่วมลดการใช้ถุงพลาสติก 19 โรงเรียน มีนักเรียนร่วมกิจกรรมกว่า 16,000 คน
ล่าสุดได้รณรงค์สร้างเครือข่ายในภาคเหนือ โดยมีโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของจังหวัด ที่มุ่งทำประโยชน์และเน้นกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมาต่อเนื่อง นอกจากนี้สถานที่ของโรงเรียนยังเป็นสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศด้วย
"เยาวชน ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนให้สร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ เพื่อสังคม ซีพี ออลล์ เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและความสามารถของเยาวชน จึงได้ร่วมกับโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาได้มีเวทีเป็นผู้นำกล้าคิด กล้าเสนอผลงาน นอกจากนี้เซเว่นฯ ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ภายใต้แนวคิด "คิดถุงวิทยา" แบ่งเป็นฐานกิจกรรม 4 ฐาน ประกอบด้วยฐานวิชาคณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, พละศึกษา และวิทยาศาสตร์ เป็นกิจกรรมที่มีสาระความรู้และความสนุกสนานเชื่อมโยงไปยังการ ลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติก มุ่งหวังว่าการที่เยาวชนได้ลงมือทำกิจกรรมด้วยตัวเอง ความรู้สึกและความภาคภูมิใจจะยั่งยืนและอยู่ในจิตใจของเยาวชนตั้งแต่เด็ก ๆ ไปที่ไหนก็จะปฏิเสธใช้ถุงพลาสติก" นายบัญญัติกล่าว
ส่วน นายรังสฤษฎิ์ เอี่ยมสะอาด รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียน โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวว่า โรงเรียนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีโครงการที่ให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีโครงการ "แปลงขยะเป็นเงินทุน" เพื่อรณรงค์ให้คณะสีของโรงเรียนแต่ละคณะสี คัดแยกขวดพลาสติกไปขาย เงินที่ได้จากการขายก็จะเป็นกองทุนให้ทำกิจกรรมกีฬาสีของโรงเรียน ในทุกภาคเรียนปีการศึกษาที่ดำเนินการมาต่อเนื่องมากกว่า 6 ปี และเมื่อมีโครงการของ ซีพี ออลล์ มาจัดโครงการสร้างเครือข่ายเยาวชนไทยลดใช้ถุงพลาสติก จึงถือเป็นการตอกย้ำให้นักเรียนได้มีกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ และได้ตระหนักถึงการใช้ถุงพลาสติกอย่างรู้คุณค่า ด้วยการ "คิดก่อนใช้" หรือ "ปฏิเสธการรับถุงพลาสติก" ก่อให้เกิดพลังเยาวชนในการร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและ จ.เชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่ น่ามอง ปราศจากถุงพลาสติกตามท้องถนน
สร้างเครือข่ายเยาวชนไทยลดใช้ถุงพลาสติก "คิดถุ๊ง คิดถุง" เป็นหนึ่งในโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของ เซเว่น อีเลฟเว่น สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.cpall.co.th และ www.facebook/ คิดถุ๊ง คิดถุง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป