นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ในภาวะร้อนแล้งเช่นนี้ น้ำที่ใช้สำหรับล้างสุกร ล้างพื้น และในส้วมน้ำมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยระบายความร้อนให้กับสุกร จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยเกษตรกรควรจัดเตรียมน้ำกินและน้ำใช้ให้มีปริมาณเพียงพอ โดยคำนวณจากการใช้น้ำของสุกร กรณีฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงในระบบอีแวป จะใช้น้ำทั้งกินและใช้เฉลี่ยวันละ 130 ลิตรต่อตัว ส่วนฟาร์มสุกรขุนกินและใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 40 ลิตรต่อตัว
"นอกจากปริมาณน้ำที่ต้องเพียงพอแล้ว คุณภาพน้ำก็นับเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยทั่วไปน้ำที่ดีควรเป็นน้ำบาดาล แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำผิวดินควรปรับคุณภาพน้ำเสียก่อน แต่หากไม่สามารถเจาะบ่อบาดาลหรือใช้น้ำผิวดินได้ แนะนำให้ซื้อน้ำจากแหล่งที่เชื่อถือได้จะดีกว่า อย่างเช่นประปาหมู่บ้านที่มีกระบวนการฆ่าเชื้อโรคในน้ำที่ดีอยู่แล้ว" นายสมพร กล่าว
ทั้งนี้ คุณภาพน้ำที่ดีสามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอกคือ สีใส ไม่ขุ่น รสชาติไม่เค็ม ในช่วงนี้ เกษตรกรควรทำการปรับคุณภาพน้ำก่อนใช้ ด้วยการใช้สารส้มเพื่อให้มีการตกตะกอนของน้ำก่อนใช้ โดยใช้สารส้ม 1 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร และใช้คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำ ในอัตราความเข้มข้น 3 - 5 ppm. (คลอรีน 3-5 ลิตร ต่อน้ำ 1 ล้านลิตร) และในระหว่างวันเกษตรกรอาจขังน้ำในรางอาหารของแม่สุกร หรือเพิ่มรางน้ำให้สุกรขุนได้กินอย่างเพียงพอและสะดวกต่อการกิน ในโรงเรือนที่มีส้วมน้ำด้านท้ายคอกควรขังน้ำให้พอดี ระมัดระวังอย่าให้ขาดน้ำ
ปัจจุบันปัญหาหลักที่พบคือเรื่องน้ำที่ใช้เลี้ยงสุกร โดยปกติสภาพอากาศที่ร้อนจัดจะส่งผลสุกรกินอาหารลดลง เนื่องจากมีความเครียดจากอากาศที่ร้อน และการกินอาหารของสุกรยังมีความเชื่อมโยงกับการกินน้ำ กล่าวคือ ปกติสุกรจะกินน้ำเป็น 3 เท่าของปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวัน ดังนั้นหากขาดแคลนน้ำดื่มจะส่งผลต่อการกินอาหารที่ลดลง ซึ่งย่อมส่งผลให้สุกรเติบโตที่ช้ากว่าปกติ และยังส่งผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันของสุกรอีกด้วย
ด้าน น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการ สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บก ซีพีเอฟ กล่าวถึงการเลี้ยงไก่ในช่วงนี้ว่า เกษตรกรต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมน้ำให้เพียงพอเช่นกัน เนื่องจากร่างกายของไก่มีน้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ โดยในลูกไก่อายุ 1 วัน มีน้ำเป็นองค์ประกอบของร่างกายถึงร้อยละ 85 ส่วนไก่ที่โตขึ้น อัตราส่วนของน้ำในร่างกายจะลดลง อย่างแม่ไก่อายุ 42 สัปดาห์ มีน้ำเป็นส่วนประกอบร้อยละ 55 ซึ่งโดยปกติแล้วไก่จะต้องกินน้ำอย่างน้อย 2 เท่า ของปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวัน หากไก่ขาดน้ำเกินร้อยละ 20 ไก่จะกินอาหารลดลง เกิดภาวะเครียด อัตราการเจริญเติบโตต่ำ ผลผลิตลด ภูมิคุ้มกันโรคลด ทำให้ไก่มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย
สำหรับข้อสังเกตในกรณีที่ไก่ได้รับน้ำไม่เพียงพอว่า ไก่จะมีอาการซึม แข้งไก่มีลักษณะแห้ง เกิดสภาพแห้งน้ำ ถ้าไก่สูญเสียน้ำไปกว่า 1 ใน 10 ส่วนของน้ำที่มีอยู่ในร่างกายจะทำให้ไก่ตายได้
ดังนั้น การจัดการเรื่องน้ำสำหรับการเลี้ยงไก่ในช่วงที่แล้งจัด ในระยะนี้ควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การจัดเตรียมน้ำให้ไก่ได้กินอย่างเพียงพอ โดยมีแหล่งสำรองน้ำภายในฟาร์ม ซึ่งประมาณการได้จากการกินน้ำของไก่ในแต่ละวัน นอกจากนี้ในกรณีที่เล้าไก่เป็นระบบอีแวป ต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำที่จะใช้ในระบบอีแวป เพื่อลดอุณหภูมิภายในเล้าไก่ด้วย ในกรณีที่ปริมาณน้ำที่สำรองใช้ภายในฟาร์มไม่เพียงพอ จะต้องเตรียมหาแหล่งน้ำสะอาดจากภายนอกสำรองไว้ด้วย รวมทั้งควรเพิ่มอุปกรณ์การให้น้ำให้มากขึ้นเพื่อให้ไก่สามารถเข้ากินน้ำได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกัน ต้องตรวจสอบปริมาณการกินน้ำของไก่ และปริมาณน้ำที่ใช้ในฟาร์มในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าไก่ได้รับน้ำเพียงพอหรือไม่
"คุณภาพน้ำในช่วงที่แล้งจัดเช่นนี้ อาจมีผลต่อคุณภาพน้ำได้ เช่น ปริมาณของเชื้อโรคในน้ำที่สูงขึ้น ปริมาณตะกอน แร่ธาตุในน้ำสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตัวไก่คือ ทำให้เกิดอาการถ่ายเหลว และท้องเสียขึ้นได้ ดังนั้นกว่งสารส้มและการใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคในน้ำก่อนนำมาใช้" น.สพ.นรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit