ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เตือนให้เร่งกู้เงินนำมาลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามเป้าหมายเพื่อประคับประคองภาวะเศรษฐกิจซบเซา การที่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนเงินกู้เพื่อนำเงินมาลงทุนตามกรอบเวลาได้สะท้อนถึงประสิทธิภาพของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ แผนการลงทุนตามยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลควรมีการบูรณาการเพิ่มขึ้น ลำดับความสำคัญให้เหมาะสมและผนวกรวมยุทธศาสตร์ต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเข้าไว้ด้วย ส่วนแผนการจัดหาเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 3.075 ล้านล้านบาท กระทรวงการคลังได้จัดหาแหล่งทุนมาใช้จ่ายลงทุนได้อย่างเหมาะสม ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2565 มีการใช้จ่ายลงทุนประกอบไปด้วยโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(294,758ล้านบาท) โครงการร่วมพัฒนารถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่นเส้นทางกรุงเทพเชียงใหม่ (449,473ล้านบาท) โครงการร่วมพัฒนารถไฟไทย-จีน (400,000ล้านบาท) โครงการภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-65 (1.93 ล้านล้านบาท) มีการจัดแหล่งเงินทุนโดยแบ่งแหล่งเงินจากงบประมาณ 25.9% จากเงินกู้ 42.24% รายได้รัฐวิสาหกิจ 2.89% และจากโครงการ PPP การร่วมทุนภาคเอกชน 28.98% การจัดโครงสร้างแหล่งเงินทุนดังกล่าวมีความเหมาะสมแต่ต้องดำเนินการในส่วน PPP ให้ดีเพื่อจูงใจให้เอกชนร่วมลงทุนโดยสาธารณชนต้องไม่เสียประโยชน์ระยะยาว เป้าหมายที่ 28% ค่อนข้างสูง ต้องแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเหมาะสมจึงจูงใจให้เกิดการร่วมมือจากเอกชนแต่ต้องไม่เป็นโครงการเอื้อเอกชนมากเกินความเป็นธรรมเหมือนหลายโครงการในอดีตที่ทำให้เกิดตำนานค่าโง่และส่อไปในทางไม่สุจริต เป้า PPP ที่ 28% ต้องใช้ความพยายามมากและการดำเนินการต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด หากทำได้จะลดภาระทางการคลังไปค่อนข้างมาก นอกจากนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานควรใช้บริษัทในประเทศ วัตถุดิบและแรงงานในประเทศให้มากที่สุด เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ชะลอตัว
หากสามารถกู้เงินเพื่อการลงทุนได้ตามแผน สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 44.9% ในปี พ.ศ. 2558 และ 48.3% ในปี พ.ศ. 2559 และ ขึ้นไปสูงสุดที่ 53.2% ในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งยังคงอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงขึ้นเป็นผลจากเศรษฐกิจไม่โตตามเป้ามากกว่า เงินกู้เพิ่มขึ้นนั้นมีความจำเป็นต่อการลงทุนเพื่อประโยชน์ระยะปานกลางและระยะยาวของประเทศ ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าวิตกกังวลมากกว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะจีดีพี คือ การไม่สามารถเร่งรัดการลงทุนได้ตามแผนจึงไม่มีการก่อหนี้มากกว่า เพราะสิ่งนี้จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาวอ่อนแอลงตามลำดับ
ดร. อนุสรณ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า ส่วนการกู้เงินชดเชยการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจต้องมีมาตรการเด็ดขาดปฏิรูปรัฐวิสาหกิจขาดทุนสะสมยาวนานด้วยการยกเครื่องประสิทธิภาพ ลดทุจริตรั่วไหล ผ่าตัดแปรรูป หนี้เกิดจากนโยบายกึ่งการคลังหรือนโยบายประชานิยมต้องตีกรอบวินัยการคลังให้เข้มงวดขึ้น รัฐวิสาหกิจที่มักเบิกจ่ายไม่ได้ตามแผนทั้งหมดเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพต่ำ มีฐานะการเงินอ่อนแอ สัดส่วนความสามารถในการทำรายได้เทียบกับภาระหนี้ล้วนอยู่ในอัตราส่วนต่ำกว่า 1.5 ได้แก่ รฟท ขสมก การยางแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ การบินไทย เป็นต้น
ดร. อนุสรณ์ ประเมินว่า ตราบเท่าที่รัฐบาลนี้และรัฐบาลในอนาคตยึดกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ยึดกรอบการดำเนินงานตามกฎหมายการเงินการคลัง ประเทศไทยจะไม่มีความเสี่ยงเกิดปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวแบบกรีซหรือหลายประเทศในยูโรโซน อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าเป้าหมาย การเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข แรงกดดันภาระทางงบประมาณเกี่ยวกับสวัสดิการที่เพิ่มสูงขึ้นรองรับโครงสร้างประชากรก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ การปฏิรูปรายได้ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานภาษีทรัพย์สิน การยกระดับรายได้รัฐวิสาหกิจ การเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในกิจการภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศในอนาคต และ คาดว่า การออกพันธบัตรหรือกู้เงินของรัฐบาลเพื่อชดเชยภาระทางการเงินแก่หน่วยงานของรัฐหลังจากผ่านพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินแล้ว การออกพันธบัตรและการกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2558 ไม่น่าจะเกิน 0.5 ล้านล้านบาท (ห้าแสนล้านบาท) การกู้ยืมเงินดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบการเงินที่มีอยู่ในระดับ 1.85-2 ล้านล้านบาทและไม่มีผลต่อค่าเงินบาท นอกจากนี้ การกู้ยืมเงินด้วยการออกพันธบัตรระยะยาวจะช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้ระยะยาวอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit