วธ.ปลื้มผลสำรวจความเห็น “วันอาสาฬหบูชา” พบประชาชนนิยมเข้าวัดตักบาตร ผลสำรวจพบปัญหาสำคัญที่ไม่เหมาะสมวันอาสาฬหบูขา –วันเข้าพรรษา การดื่มสุรา-การจำหน่ายสุรา- จัดกิจกรรมรื่นเริงที่ไม่เหมาะสม-แต่งกายที่ไม่สุภาพ

23 Jul 2015
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า เนื่องในวันสำคัญทางศาสนาที่กำลังจะมาถึง ประชาชนโดยทั่วไปจะนิยมทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังธรรม เวียนเทียนที่วัด หรือตามสถานที่ต่างๆ ที่มีการจัดงาน เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยอันดีงาม เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนเนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม ได้ ร่วมกับ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 3,044 คน ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน–20 กรกฎาคม โดยจาการสอบถามประชาชนว่าตั้งใจที่จะทำกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนาในวันใดบ้าง ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า วันเข้าพรรษา ร้อยละ 39.54 วันอาสาฬหบูชา ร้อยละ 32.34 และวันออกพรรษา ร้อยละ 28.12

นายวีระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จาการสอบถามว่ากิจกรรมใดที่ประชาชนปฏิบัติเป็นประจำในวันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา พบว่ากิจกรรมที่ประชาชนนิยมทำมากที่สุดในวันอาสาฬหบูชา 5 อันดับได้แก่ ตักบาตร ร้อยละ 18.41 เวียนเทียน ร้อยละ13.18 ฟังเทศน์ฟังธรรมร้อยละ 9.95 สวดมนต์/นั่งสมาธิ ร้อยละ 8.19 และทำบุญตามประเพณีท้องถิ่น ร้อยละ 7.76 และได้สอบถามว่ากิจกรรมทางศาสนาในวันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษาที่ประชาชนชื่นชอบ ได้แก่ ทำบุญ ตักบาตร ร้อยละ 33.79เวียนเทียน ร้อยละ 25.20 ฟังเทศน์ ฟังธรรม ร้อยละ 21.40 สวดมนต์ นั่งสมาธิ ร้อยละ 10.09 ปล่อยนก ปล่อยปลา ร้อยละ 6.89 และถวายเทียน หล่อเทียน หลอดไฟ ร้อยละ 2.63

นายวีระ กล่าวว่า จากการสอบถามความคิดของประชาชนคิดว่าสิ่งที่ไม่เหมาะสมในวันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา ที่ยังเป็นปัญหาสำคัญ ประชาชนมีความเห็นว่า การดื่มสุรา/เสพของมึนเมา ร้อยละ 41.82 การจำหน่ายสุรา/ของมึนเมา ร้อยละ 34.81 การจัดกิจกรรมรื่นเริงที่ไม่เหมาะสม ร้อยละ 23.24 พฤติกรรม การแต่งกายที่ไม่สุภาพ ร้อยละ 0.13 และเมื่อถามว่าประชาชนคิดว่า “กระทรวงวัฒนธรรม” ควรดำเนินการเรื่องใดบ้างในวันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา บอกว่า ห้ามจำหน่ายสิ่งมึนเมาและจัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมร้อยละ 27.96 รณรงค์ เชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา ร้อยละ23.54จัดกิจกรรม/พิธีกรรมทางศาสนาที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติ เช่น ทำบุญ ตักบาตรฟังเทศน์ฟังธรรม เวียนเทียน ถวายเทียน เป็นต้น ร้อยละ17.24 การสร้างความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนงบประมาณ ฟื้นฟูประเพณีอันดีงามในท้องถิ่น ฯลฯร้อยละ 16.90 และให้ความรู้เกี่ยวกับวันสำคัญทางศาสนา เช่น จัดนิทรรศการ แสดงถึงประวัติความเป็นมา ความสำคัญต่างๆ ตามวัด โรงเรียน และส่วนราชการ ร้อยละ 14.36