ขณะเดียวกัน ความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับบริษัทเอกชนในการก่อสร้างโครงการสถานีขนถ่ายมูลฝอยแห่งนี้ ยังมีรูปแบบที่น่าสนใจโดยกทม.เป็นผู้จัดหาพื้นที่ ส่วนบริษัทเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง พร้อมกับติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักรทั้งหมด แต่จะได้รับผลตอบแทนเป็นค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ (คิดตามจำนวนปริมาณขยะต่อตัน) ซึ่งปัจจุบันนอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว จังหวัดในภูมิภาค อาทิ ภูเก็ต, เชียงใหม่, ขอนแก่น และนครราชสีมาที่มีการขยายตัวของเมืองสูง หากสนใจจะนำโมเดลสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยแห่งนี้ไปศึกษาเป็นแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง ก็สามารถมาเยี่ยมชมการทำงานของสถานีขนถ่ายมูลฝอยที่นี่ได้
สำหรับโครงการสถานีขนถ่ายมูลฝอย ขนาด 700 ตันต่อวัน ตั้งอยู่บริเวณแยกรัชวิภา มูลค่าก่อสร้างโครงการรวมทั้งสิ้น 497.9 ล้านบาท โดยมีอาคารสถานีที่มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 4,000 ตารางเมตร และชั้นใต้ดินที่ลึกลงไปไม่น้อยกว่า 6 เมตร อันประกอบด้วย พื้นที่ลานจอดรถบรรทุกมูลฝอย, พื้นที่วางตู้บรรทุกมูลฝอย, พื้นที่ส่วนสำนักงานและห้องควบคุมการเทมูลฝอย รวมทั้งระบบกระจายเสียงจากห้องควบคุมส่วนกลาง พร้อมระบบบำบัดกลิ่นและฝุ่นภายในอาคาร ที่สำคัญภายในบริเวณสถานีแห่งนี้ยังมีพื้นที่สีเขียวที่มากถึง 80% ของพื้นที่ทั้งหมดของโครงการ
วัตถุประสงค์หลักของการก่อสร้างสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยแห่งนี้ ก็เพื่อรองรับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของเมือง ขณะเดียวกันบริเวณเขตชั้นในของกรุงเทพฯซึ่งมีความแออัดด้านการจราจรอยู่แล้ว ยิ่งทำให้การเก็บและขนถ่ายขยะมูลฝอยเป็นไปด้วยความยากลำบาก จนเกิดปัญหาขยะตกค้างและจำนวนปริมาณในการจัดเก็บขยะมูลฝอยลดลง นอกจากนี้ การขนถ่ายขยะมูลฝอยโดยรถยนต์จากเขตเมืองเพื่อไปกำจัดด้วยวิธีการต่างๆนั้น ยังมีส่วนสร้างปัญหาการจราจรติดขัดให้มากขึ้น ดังนั้น กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงได้มีนโยบายที่จะหาวิธีการใหม่ๆในการเก็บขนและขนถ่ายขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ และต้องไม่สร้างมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมให้กับพื้นที่ด้วย นายหนิง เหอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิวสกาย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ระบบการทำงานของสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยดังกล่าว ซึ่งได้มีการติดตั้งเครื่องชั่งน้ำหนักจำนวน 2 ชุด สามารถรองรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า 40 ตันที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการชั่งน้ำหนักจากกระทรวงพาณิชย์ จะทำหน้าที่เป็นด่านแรกที่จะรับรถขยะมูลฝอยเพื่อชั่งน้ำหนักแล้วส่งผ่านข้อมูลไปยังห้องควบคุมส่วนกลางที่มีการติดตั้งระบบควบคุมการทำงานและการแจ้งเตือนการทำงานของอุปกรณ์หลัก รวมทั้งขั้นตอนการทำงานต่างๆ โดยสามารถวิเคราะห์ แสดงภาพและพิมพ์สถิติตัวเลขการทำงานของอุปกรณ์หลักได้
จากนั้นระบบจะส่งสัญญาณให้รถขยะไปที่ช่องเทขยะมูลฝอยตามหมายเลขที่กำหนด โดยช่องเทมูลฝอยนี้จะเคลื่อนที่ขึ้นและลงโดยอาศัย Gear Motor พร้อมเครื่องอัดมูลฝอยในแนวตั้งที่มีจำนวน 2 ชุด โดยจะทำงานเพียงครั้งละ 1 ชุด มีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 6,500 กิโลกรัม ความสามารถในการบีบอัดไม่น้อยกว่า 300 Kn ขณะเดียวกัน ภายในโรงงานยังได้มีการติดตั้งระบบกำจัดกลิ่นแบบฉีดพ่นและระบบระบายอากาศที่บริเวณช่องรับมูลฝอย โดยจะใช้อุปกรณ์ที่สามารถฉีดพ่นสารระงับกลิ่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เพื่อกำจัดกลิ่นได้ก่อนที่จะออกสู่ภายนอก หรือในกรณีที่อุปกรณ์ขัดข้อง ระบบก็จะมีการแจ้งเตือนไปยังห้องควบคุมส่วนกลางโดยอัตโนมัติ
เมื่อขยะถูกบีบอัดลงไปในตู้บรรทุกมูลฝอย ซึ่งมีจำนวน 20 ตู้ทำจากวัสดุที่เป็นโลหะคุณภาพสูง และมีระบบป้องกันการผุกร่อนแบบพิเศษ พร้อมกับมีการใช้อุปกรณ์ Seal เพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำเสียจากมูลฝอย หลังจากตู้บรรทุกมูลฝอยเต็มแล้วก็จะมีรถบรรทุกตู้มูลฝอยจำนวน 9 คัน ที่มีขีดความสามารถในการยกน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า 15 ตัน โดยจะนำขยะที่ถูกบีบอัดแล้วไปส่งยังโรงกำจัดขยะที่หนองแขม เพื่อดำเนินการกำจัดขยะในขั้นตอนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการดังกล่าว โดยปกติทั่วไปแล้วรถขยะของกรุงเทพมหานคร1 คัน จะมีขีดความสามารถในการจัดเก็บขยะมูลฝอยได้ประมาณ 2-5 ตันต่อคัน เพื่อขนขยะไปส่งยังโรงงานกำจัดขยะทั้ง 3 แห่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ หนองแขม, อ่อนนุช และสายไหม ซึ่งแต่ละแห่งจะมีระยะทางในการเดินทางไม่ต่ำกว่า 35 กิโลเมตร ทำให้รถขยะสามารถจัดเก็บขยะมูลฝอยได้เพียง 2 เที่ยวต่อวันเท่านั้น แต่เมื่อมีสถานีกำจัดขยะมูลฝอยแห่งนี้ขึ้นมาจะเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บและขนถ่ายขยะมูลฝอยได้วันละไม่ต่ำกว่า 5 เที่ยวต่อวัน นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บขยะและพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการทำงานอีกด้วย อันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บและขนถ่ายขยะมูลฝอย เพื่อลดปริมาณขยะในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการควบคุมมลภาวะได้ตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อยู่โดยรอบโครงการอีกด้วย