แคล-คอมพ์ ผนึก พีซีโฮม จัดการประชุม “อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศไทยและไต้หวัน ประจำปี 2558” ยกระดับธุรกิจอินเทอร์เน็ตและอีคอมเมิร์ซไทย

20 Jul 2015
เอกสารข่าวและภาพประกอบสามารถดาวน์โหลดได้จาก

https://www.dropbox.com/sh/30pcmgme4ofju2i/AABOF95Wsrd7B5UibwCcx9m7a?dl=0

2 ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตและอีคอมเมิร์ซจากไต้หวัน แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ และพีซีโฮม ออนไลน์ เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตและโอกาสในการขยายความร่วมมือในการทำธุรกิจและลงทุนร่วมกันในประเทศไทย จัดการประชุมเรื่อง "อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศไทยและไต้หวัน ประจำปี 2558" ในหัวข้อ "A Brand New Digital Economy: Cloud Banking, Online Service and E-commerce" โดยเชิญเจ้าของธุรกิจ และกูรูในการทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตและอีคอมเมิร์ซที่ประสบความสำเร็จในไต้หวันขึ้นเวทีถ่ายทอดประสบการณ์และเทคนิคในการดำเนินธุรกิจยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

นายหง จื้อ จัน ประธานสมาคมผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตและการพาณิชย์อีเล็คโทรนิคส์แห่งไต้หวัน และประธานกรรมการ บริษัท พีซีโฮม ออนไลน์ จำกัด กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ในการจัดการประชุมที่ประเทศไทยว่า "จากประสบการณ์ที่เราได้รู้จักกับนักธุรกิจไต้หวันจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสนใจเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบที่สุด รวมถึง นักธุรกิจชาวไทยที่จะมีธุรกิจอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะก้าวเข้ามาอยู่ในตลาดอีคอมเมิร์ซได้อย่างไร ทั้งนี้ ประเทศไต้หวันมีความโดดเด่นและประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตและอีคอมเมิร์ซโดยมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในไต้หวันคิดเป็น 11% ของรายได้ทั้งหมดในประเทศหรือ 1.1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ไต้หวันเองก็มีโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากมาย และมีความต้องการที่จะขยายการลงทุนและความร่วมมือกับนักธุรกิจชาวไทย วันนี้ เราจึงได้จัดการประชุม "อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศไทยและไต้หวัน ประจำปี 2558" เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจากทั้ง 2 ชาติได้ทำความรู้จักกันและสร้างเครือข่ายในการทำธุรกิจร่วมกันในอนาคต"

นายซื่อ หยง เสิ่น รองประธานกรรมการ บมจ. แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย)กล่าวถึงตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยและไต้หวันว่า "ยอดการขายปลีกในไทยปี 2556 มีมูลค่าสูงถึง 9 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่คิดเป็นสัดส่วนการซื้อขายอีคอมเมิร์ซเพียงแค่ 0.2% เท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศไต้หวันซึ่งมีสัดส่วนถึง 11% ของยอดขายปลีกโดยรวมในประเทศ จากพฤติกรรมของผู้บริโภค และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เราเชื่อว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ดังนั้น นอกจากจัดการประชุมเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในไต้หวันให้กับผู้ประกอบการชาวไทยแล้วนั้น แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ และพีซีโฮมยังได้ทำสัญญาร่วมกันก่อตั้งบริษัท พีซีโฮม (ประเทศไทย) ซึ่งจะเริ่มดำเนินธุรกิจในเดือนกันยายนนี้ เพื่อเป็นช่องทางในการซื้อขายสินค้าต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตแบบครบวงจรทั้งลูกค้าขายให้กับลูกค้า องค์กรขายให้กับลูกค้า และการค้าขายระหว่างองค์กรธุรกิจด้วยกัน โดยจะนำความรู้ความเชี่ยวชาญจากการบริหารพีซีโฮมที่ได้หวัน ซึ่งเป็นบริษัทค้าขายออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไต้หวัน มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 70% มาสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย"

การประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากเหล่าวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งจากไต้หวันและไทย อาทิ นายเจมี่ หลิน Supervisor สมาคมผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตและการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งไต้หวัน และผู้ก่อตั้ง AppWorks Ventures นางสาวเธลมา หลิน ผู้จัดการ บริษัท cacaFly จำกัด ประเทศไทย นายอเล็กส์ เฉิน ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร EZTABLE นายฟอกซ์ เชียว จาก i-cook Inc. วิคกี้ เฉิง จาก PChome eBay JV ผศ.ดร.พรเทพ อนุสสรนิติสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายผรินทร์ สงฆ์ประชา สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และ Head of e-Commerce บมจ.ซีพี ออลล์ นายไมเคิล จูฮาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทคโนโลยี HotelQuickly นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีวี ไดเร็ค และ นายธนะบุล มัทธุรนนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีวีดี ช้อปปิ้ง จำกัด

นางสาวเธลมา หลิน ผู้จัดการ บริษัท คาคาฟลาย จำกัด ประจำประเทศไทย บริษัทสื่อโฆษณาดิจิทัลอันดับ 1 ของไต้หวัน ผู้ขายต่อโฆษณารายแรกที่ได้รับอนุญาตจากเฟซบุ๊กในไต้หวัน บรรยายในหัวข้อ "The Power of Digital Advertising" กล่าวว่า "พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก จากแต่ก่อนเราจะเสพสื่อจากสิ่งพิมพ์และทีวีเป็นหลัก แต่ทุกวันนี้ เราจะรับข้อมูลจากหลาย ๆ สื่อพร้อม ๆ กัน และแต่ละคนก็จะมีดีไวซ์ในการสื่อสารมากกว่า 1 เครื่อง ต้องยอมรับว่าอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ จากการสำรวจเรื่องการใช้ดิจิทัล โซเชียล และโทรศัพท์มือถือของwww.wearsocial.net ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2558 พบว่า คนไทยใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เฉลี่ยวันละ 5.5 ชั่วโมง และดูผ่านดีไวซ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ 4.1 ชั่วโมง ในขณะเดียวกันใช้เวลาอยู่กับโซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ เฉลี่ยคนละ 3.8 ชั่วโมงต่อวัน เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียนรองจากฟิลิปปินส์ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 4.3 ชั่วโมง นอกจากนี้คนรุ่นใหม่จะเลือกที่จะเชื่อข้อมูลจากเพื่อนหรือคนที่รู้จักมากที่สุด จากการเปลี่ยนแปลงนี้เองทำให้นักโฆษณามองหากลยุทธ์และช่องทางใหม่ ๆ ที่สามารถเข้าถึงตัวบุคคลกลุ่มเป้าหมายโดยตรง จะเห็นได้ว่าหลาย ๆ บริษัทหันมาใช้งบโฆษณาลงในโซเชียลเน็ตเวิร์กยอดนิยมไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือไลน์ และสื่อดิจิทัลมากขึ้นและยังต้องรู้จักบริหารจัดการโซเชียลเน็ตเวิร์กของบริษัทให้เป็นด้วย"

การประชุมครั้งนี้มีบริษัทชั้นนำจากไต้หวัน 23 บริษัทเข้าร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การดำเนินธุรกิจอินเทอร์เน็ต ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดีย ตลอดจนการขยายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและไต้หวันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน