ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัดหลังจากขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด หยุดการสูบน้ำเพื่อการเกษตรเป็นการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น 12 เซนติเมตร ทำให้กรมชลปประทานสามารถระบายน้ำไปยังพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้เพิ่มมากขึ้นสำหรับภาคการเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องขอความร่วมมือเกษตรกรหยุดสูบน้ำอีก 2 วัน เพื่อประเมินปริมาณน้ำที่คงเหลืออยู่จริง เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่พื้นที่เกษตรตามลำดับความสำคัญ โดยไม่ส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและผลักดันน้ำเค็มที่ปล่อยน้ำลงมาจาก 4 เขื่อนหลัก
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยการดึงน้ำฝั่งตะวันตก จากเขื่อนศรีนครินทร์-วชิราลงกรณ โดยระบายผ่านคลองจรเข้สามพัน ลงแม่น้ำท่าจีนแล้วผันเข้าคลองผ่านประตูน้ำผักไห่-เจ้าเจ็ด ลงแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณบางไทร นั้นแม้ว่าสามารถทำได้ แต่ไม่อยากทำ เพราะทราบดีว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้น้ำเช่นกัน
นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศคาดว่าจะมีพื้นที่ข้าวเสี่ยงได้รับความเสียหายประมาณ 1.4 ล้านไร่ โดยในวันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคมนี้ กระทรวงเกษตร ฯได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ เพื่อสำรวจว่าพื้นที่ใดบ้างสุ่มเสี่ยงที่อาจจะขาดแคลนน้ำที่ชัดเจน เช่น พื้นที่ที่ปลูกข้าวและอยู่ระหว่างต้นข้าวตั้งท้อง พื้นที่ที่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และพื้นที่ที่ปลูกข้าวหลังเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดก่อนจะประมวลผลเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ต่อไป อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือตอนนี้ ประกอบด้วย 1. การจ้างงานเพื่อปรับปรุงระบบชลประทาน 2.สนับสนุนเกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเขียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แทนการปลูกข้าว 3.ส่งเสริมการหารายได้เสริมในชุมชน ทั้งเพื่อการบริโภคในชุมชนและเหลือจำหน่าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit