นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า การผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ถือเป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ จึงต้องการให้มีการสนับสนุนด้วยกัน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) การพัฒนาบุคลากรภาคการเกษตร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนงานที่จะส่งเกษตรกรไปศึกษาดูงานและฝึกอบรม ณ ประเทศญี่ปุ่น ในประเด็นการทำธุรกิจภาคเกษตรขององค์กรเกษตรกร ด้านความปลอดภัยอาหาร และเทคโนโลยีด้านการเกษตร 2) ความร่วมมือด้านสหกรณ์และเครือข่ายเกษตรกรไทย-ญี่ปุ่น และเชื่อมโยงการพัฒนาองค์กรท้องถิ่นระหว่างกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการขยายตลาดสินค้าเกษตรระหว่างกัน เช่น พัฒนาการผลิตผลไม้เพื่อการส่งออกไปญี่ปุ่น และการกระจายสินค้า 3) การส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานของไทยกับหน่วยงานญี่ปุ่น รวมทั้งสถาบันการศึกษาของญี่ปุ่น เช่น ด้านการจัดการชลประทาน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร และการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และ 4) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคโนโลยีด้านการเกษตรระหว่างกัน รวมทั้งนโยบาย Food Value chain ของญี่ปุ่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของประเทศญี่ปุ่น ผ่านการเพิ่มมูลค่าในระบบห่วงโซ่อาหาร ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก และผู้บริโภค ถือเป็นนโยบายที่น่าสนใจ ซึ่งน่าจะมีการดำเนินการร่วมกันในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 3 ของไทย รองจากจีน และสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในปี 2557 จำนวน 169,392 ล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่น 158,868 ล้านบาท การนำเข้า 10,524 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า จำนวน 148,343 ล้านบาท โดยมีสินค้าเกษตรส่งออกไปญี่ปุ่นที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป น้ำตาลทรายดิบ กุ้งขาวแวนนาไม ยางธรรมชาติ ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3