ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาฯ กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้มุ่งหวังให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น แต่ไม่ได้มีมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ ธุรกิจชุมชน ธุรกิจขนาดเล็กอย่างเพียงพอ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งด้านยาและสุขภาพของประเทศไทยได้
"โดยเฉพาะยาเป็นสินค้าคุณธรรม ต้องคำนึงถึงคุณภาพ ความปลอดภัย ประสิทธิผลและประสิทธิภาพ รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การซื้อขายยาเป็นกลไกตลาดที่ไม่สมบูรณ์จึงไม่สามารถใช้กลไกการต่อรองแบบสินค้าทั่วไปมาใช้ในการซื้อขายยาได้จึงต้องมีข้อกำหนดและข้อยกเว้นเฉพาะ ดังนั้นภาคีเครือข่ายสุขภาพ 13 องค์กรจึงต้องทำหนังสือเสนอความเห็นมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้พิจารณากฎหมายนี้อย่างรอบคอบมากที่สุด
นอกจากนี้ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงต้องพิจารณาทั้งเรื่องความโปร่งใส ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยในประเทศไทย เพราะจะเปิดทางให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาประมูลแข่งขันได้ในทุกระดับ อาจจะนำไปสู่ความล่มสลายของอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในไทย และทุกอย่างจะอยู่ในความผูกขาดของธุรกิจรายใหญ่และธุรกิจข้ามชาติทั้งหมด"
ทางด้าน นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ชมรมแพทย์ชนบทตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณากฎหมายเป็นไปอย่างเร่งรีบทำตามความต้องการของนักลงทุนต่างชาติตามการกล่าวอ้างของอธิบดีกรมบัญชีกลาง แต่ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบคอบ จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาต้องเปิดรับฟังและแก้ไขเนื้อหาอย่ารวบรัด
ทั้งนี้ข้อเสนอของภาคีเครือข่ายสุขภาพ 13 องค์กร ประกอบไปด้วย การเพิ่มข้อยกเว้นที่ไม่ใช่บังคับตาม พ.ร.บ. อาทิ การดำเนินการจัดหาในสถานการณ์ภัยพิบัติ ภาวะฉุกเฉิน ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุขของชาติ, การดำเนินการจัดหาที่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท (เพื่อปกป้องธุรกิจชุมชน ธุรกิจขนาดเล็ก), การดำเนินการจัดหายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์จากหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ, การดำเนินการจัดหาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของคนไทยเพื่อพัฒนาสินค้าไทย และส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ
การเพิ่มเนื้อหาการจัดซื้อยาที่เคยมีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาโดยปรับให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และ การเพิ่มการต่อรองราคาเพื่อประโยชน์ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ (1) ราคาที่เสนอสูงกว่าราคากลาง (2) ราคาที่เสนอสูงกว่างบประมาณที่จัดซื้อจัดจ้าง (3) ราคาที่เสนอมีมูลค่าเกินกว่าราคาที่จัดซื้อได้ในตลาดหรือในท้องถิ่น
ภาคีเครือข่ายสุขภาพ 13 องค์กร ประกอบไปด้วย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.), แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาฯ (คคส.), มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.), กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.), มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), มูลนิธิเภสัชชนบท (มภช.), มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส), หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ, ชมรมเภสัชชนบท, ชมรมแพทย์ชนบท และ มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย (มพท.)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit