โครงการ “วัดบันดาลใจ” ริเริ่ม ๙ วัดนำร่อง ต้นแบบในการพลิกพื้นที่ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ พร้อมส่งต่อองค์ความรู้และแรงบันดาลใจสู่วัดทั่วประเทศ

20 Jul 2015
สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกับ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และเหล่าภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการ "วัดบันดาลใจ" ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกสยามฯ, สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ นำร่อง ๙ วัดต้นแบบ หวังส่งต่อองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายการทำงานเชื่อมต่อระหว่างภาคประชาชนรุ่นใหม่กับพระสงฆ์อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้วัดและชุมชนลุกขึ้นมาร่วมกันพลิกฟื้นวัดทั้งด้านกายภาพและกิจกรรม ให้เป็นพื้นที่แห่งชีวิตและจิตวิญญาณของคนไทยอย่างสมสมัยทั่วทั้งประเทศ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลใน ๓ โอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๙๐ พรรษา และทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบรอบ ๘๔ พรรษา

นายประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการวัดบันดาลใจ และ ประธานสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ เผยว่า ในอดีตวัดเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจและศูนย์กลางกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม สำหรับชุมชนหลายระดับ พื้นที่วัดถูกใช้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคม ทั้งทางด้านจิตวิญญาณ การส่งเสริมคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม รวมถึงวิชาการความรู้ให้แก่สาธุชน โดยพระมีบทบาทสำคัญในการชี้นำทางสติปัญญา และเป็นที่พึ่งให้กับชุมชน แต่ด้วยบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ได้ทำให้บทบาทความเป็นศูนย์กลางของวัดลดความสำคัญลง ถูกจำกัดอยู่เพียงมิติทางศาสนาและการทำบุญ ส่งผลให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัดและชุมชนลดน้อยลง

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการ "วัดบันดาลใจ" จากความร่วมแรงร่วมใจของพระสงฆ์ ชุมชน และเหล่าภาคีเครือข่าย เพื่อพลิกฟื้นในมิติทั้งด้านกายภาพในพื้นที่วัดและกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยด้านกายภาพ ได้รับความร่วมมือจากนักออกแบบมืออาชีพ เหล่าสถาปนิกและภูมิสถาปนิกที่อาสามาช่วยงานนี้ เบื้องต้นได้นำร่องคัดเลือก ๙ วัดจากทั่วประเทศ (ได้แก่ วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ, วัดนางชีโชติการาม กรุงเทพฯ, วัดชลประทานรังสฤษดิ์ นนทบุรี, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา, วัดภูเขาทอง อยุธยา, วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่, วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร นครพนม, วัดป่าโนนกุดหล่ม ศรีสะเกษและวัดศรีทวี นครศรีธรรมราช) มาเป็นวัดต้นแบบ เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการส่งต่อองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายการทำงานเชื่อมต่อระหว่างภาคประชาชนคนรุ่นใหม่และพระสงฆ์อย่างยั่งยืน ที่สำคัญเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับวัดและชุมชนอื่นๆ มาร่วมมือกันพลิกฟื้นวัดทั่วประเทศให้เป็นวัดบันดาลใจของทุกคน"ที่ผ่านมาเหล่าสถาปนิก ภูมิสถาปนิก และนักออกแบบใช้ทักษะด้านการออกแบบมาเปลี่ยนแปลงสังคมในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นหากเหล่านักออกแบบมาร่วมกันออกแบบพื้นที่วัด ก็น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมสูงสุดของวิชาชีพที่จะส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจและเกิดคุณค่าขึ้นแก่สังคมและชีวิต" ผอ.โครงการฯ เสริม

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า เนื่องจากโครงการวัดบันดาลใจ มีความสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาให้วัดเป็นพื้นที่สุขภาวะ เป็นสถานที่มาแล้วเกิดความรื่นรมย์ทางปัญญา อันนำมาซึ่งความสุขของคนไทยโดยรวม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีการดำเนินงานทั้งการสนับสนุนองค์ความรู้เชิงประเด็นสุขภาพพระ พัฒนาสภาพแวดล้อมของวัด สร้างหลักสูตรสุขภาวะในกลุ่มแกนนำพระสงฆ์ทั้งที่อยู่มหาวิทยาลัยสงฆ์และที่เป็นกลุ่มพระสังฆพัฒนานั้นล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือเพื่อนำไปสู่การสร้างวัดให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ โดยโครงการวัดบันดาลใจได้มีการดำเนินการร่วมกับโครงการวัดสร้างสุข ซึ่งเป็นโครงการที่ขยายแนวคิดหลัก 5 ส.ประกอบไปด้วย สะสาง, สะดวก, สะอาด, สุขลักษณะ และสร้างนิสัย เพื่อพัฒนาสังคมไทยสู่ความยั่งยืน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน เป็นผู้นำชุมชน เป็นแหล่งที่พึ่งทางใจแก่ประชาชนทั่วไป ด้วยแนวทางที่จะให้พระสงฆ์เป็นนักสร้างเสริมสุขภาวะแก่ประชนชนทั่วไป

"การร่วมมือกันในโครงการวัดบันดาลใจ ถือเป็นจุดหมุนสำคัญในการสร้างกระบวนทัศน์การพัฒนาสุขภาวะเมือง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ไม่เพียงแต่นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะของเมือง ผ่านการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในวัดทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งพระสงฆ์ ชุมชน องค์กรท้องถิ่น สถาปนิก นักผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สาธารณะ เพราะการที่วัดกลับมาอยู่ร่วมกับสังคมอย่างสมสมัย จะถือเป็นศูนย์สุขภาวะทั่วประเทศที่มีมากถึง ๔๐,๐๐๐ แห่ง กระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศไทย"

นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ กล่าวว่า ในฐานะที่ทุกวัดทั่วประเทศประมาณ ๔๐,๐๐๐ วัด ล้วนสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่สำคัญของชีวิตจิตใจและชุมชน แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา ได้ถูกละเลยจนบทบาทสถานะของวัดเปลี่ยนแปลงไปมากอย่างน่าเสียดาย และพวกเราชาวพุทธที่ไม่ได้บวชเรียนหรือปฏิบัติเท่ากับพระก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้รับใช้ถวายงานพระอย่างที่ควรจะเป็น ประกอบกับประสบการณ์ของสวนโมกข์กรุงเทพตลอดจนมีธรรมภาคีเครือข่ายความร่วมมืออยู่แล้ว จึงได้เข้าร่วมโครงการโดยจะมุ่งเชิญชวนธรรมภาคีเครือข่ายงานธรรมของสวนโมกข์กรุงเทพอาสารับใช้ถวายงานพระและวัดในด้านของกิจกรรมของวัดให้เหมาะสมกับแต่ละวัดซึ่งมีพื้นที่ธรรมชาติและเป้าหมายที่ต่างกัน โดยหวังว่าจะเป็นวัดนำร่องและเป็นกรณีศึกษาเพื่อขยายสู่วัดอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป

ด้าน พระมหาสุทธิต อาภากโร เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม หนึ่งในเก้าวัดนำร่องในการเป็นวัดต้นแบบของโครงการวัดบันดาลใจ กล่าวว่า คนจะรู้จักวัดสุทธิวรารามในนามของโรงเรียนวัดสุทธิวราราม เป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตร เพราะว่าเป็นโรงเรียนชายล้วน ที่วัดจริงๆ เดิมไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ภายหลังการเจริญเติบโตของบ้านเมือง มีการรุกที่เข้ามาบ้าง ความโล่ง โปร่ง สบายหรือต้นไม้มากๆ ก็ลดลงไป หัวใจหลักของการที่จะพัฒนาวัด คือ สร้างพื้นที่อยู่สามส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ การสร้างพื้นที่ทางกายภาพวัดให้สะอาดร่มรื่นโดยใช้หลักอีโค ทาวน์ (เพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบโบสถ์, ปรับปรุงลานจอดรถสำหรับนั่งพักผ่อนและปฏิบัติภาวนา) เมืองกับคนอยู่ด้วยกันได้ ขณะเดียวกันก็มีสภาพแวดล้อมร่มรื่นเป็นสัปปายะ สองคือ สร้างพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ (ห้องสมุด,พื้นที่นันทนาการเอนกประสงค์, จัดนิทรรศการย่านเจริญกรุงใต้) อย่างน้อยที่สุด ให้โรงเรียน บริษัทและห้างร้านและคนในย่านนี้ ได้เข้ามาเรียนรู้ และสุดท้าย พื้นที่ที่สาม คือ พื้นที่ทางจิตใจและปัญญา อยากให้คนมาประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดเข้าไปในอุโบสถซึ่งจะให้ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา มีโครงการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในพระพุทธศาสนา

เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฎิ์ จ.นนทบุรี หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ กล่าวว่า ที่วัดชลประทาน ในเรื่องการทำศพ 12 ศาลา พระเทศน์ทุกคืน ก่อนเผาก็ต้องแสดงธรรมหน้าศพ ซึ่งในแผ่นดินไทย ถ้าเกิดสิ่งนี้ขึ้นมา กระแสธรรมจะเข้าถึงคน ใครที่มาตั้งศพที่วัดชลประทาน บอกญาติพี่น้อง อย่าเอาพวงหรีดเข้าวัดชลประทาน จะเผาฟรี เราต้องทำให้ธรรมชาติที่พระพุทธเจ้ารักมาอยู่ในจิตวิญญาณที่เราจะต้องดูแล ลานหินโค้งเป็นสัญลักษณ์ของวัดชลประทาน เราต้องปรับ (ปรับขยายพื้นที่ลานหินโค้งให้รองรับคนจำนวนมาก) รับให้หินโค้งไม่ถูกเป็นปัญหา เราจะต้องแก้สองส่วนเข้ามาให้ได้ หนึ่ง พระสามร้อยรูปต้องมีพื้นที่ให้ท่านนั่ง สอง คนที่มาสองสามพันคน ต้องเข้ามาให้ได้ประมาณราวสองร้อยกว่าคน นอกนั้นก็เที่ยวกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ทั่วไป ถ้าเราอยู่ตรงนี้ คนก็ถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง ฉะนั้น ต้องไปขยับเพื่อให้ดูเป็นพื้นที่เดียวกัน

ทั้งนี้ โครงการ "วัดบันดาลใจ" มีแผนเดินหน้าส่งต่อองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างภาคประชาชนรุ่นใหม่กับพระสงฆ์อย่างยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจัดเวิร์คช็อปไปยังวัดและชุมชนอื่นๆ, การจัดนิทรรศการสรุปภาพรวมของ ๙ วัดบันดาลใจ เพื่อขอความร่วมมือจากภาคประชาชน ให้มาร่วมแรงร่วมใจ ทำให้แต่ละโครงการเป็นจริง, การจัดทำสารคดีวัดบันดาลใจ เพื่อเผยแพร่แนวคิดออกไปในวงกว้าง ตลอดจนสานต่อโครงการนี้ไปยังวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อพลิกฟื้นให้ทุกวัดเป็นวัดบันดาลใจ