เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่งผลให้เกิดรัฐวิสาหกิจแห่งใหม่ คือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หรือ Rubber Authority Of Thailand (RAOT) ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยดำเนินงานในรูปแบบองค์กรรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ให้ กยท. เป็นองค์กรกลางที่รับผิดชอบดูแลบริหารจัดการยางพาราของประเทศครบวงจรทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งการผลิต การแปรรูป การตลาด อุตสาหกรรม งานวิจัยและงานวิชาการ รวมถึงการพัฒนาเกษตรกร เตรียมพร้อมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางของภูมิภาคอาเซียน และผู้นำตลาดยางในอนาคต
ในช่วงเบื้องต้นของการเปลี่ยนแปลงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ภารกิจของ กยท. ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย ขณะเดียวกันยังต้องเตรียมยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราของประเทศ พร้อมขับเคลื่อนองค์กรใหม่ให้สอดคล้องรับกับนโยบายแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบของรัฐบาล รวม 16 โครงการ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ จะมีการจัดการกองทุนพัฒนายางพาราของ กยท. โดยมีเป้าหมายจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อ 6 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1.ใช้เพื่อบริหารจัดการองค์กร 10% 2.ใช้สนับสนุนการศึกษาวิจัย ยางพารา 5% 3.ใช้เพื่อส่งเสริมการปลูกแทน 40% 4.ใช้เพื่อส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศพัฒนาระบบตลาดและการขนส่ง และรักษาระดับราคายางให้มีเสถียรภาพ 35% 5.เป็นสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง 7% 6.ใช้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนสถาบันเกษตรกรให้เกิดความเข้มแข็ง 3% ซึ่ง กยท. จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่สร้างประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยาง อุตสาหกรรมยางพารา และเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศด้วย