ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมการเกษตร ออกแบบระบบศูนย์ช่วยเกษตรกร เพื่อสามารถบริหารจัดการข้อมูลช่วยเหลือ รวมถึงการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร การสร้างเกษตรกรรมทางเลือกให้กับเกษตรกรเพื่อเตรียมฤดูกาลผลิตต่อไปด้วย ซึ่งกลไกการขับเคลื่อนทั้งหมด ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันนโยบายเพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมนำไปสู่การยกระดับศักยภาพการแข่งขันในการผลิตภาคเกษตรของประเทศ
" ระบบช่วยเหลือและเยี่ยมเยียนเกษตรกร จะดำเนินการภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศชก.) โดยเกษตรอำเภอทั้ง 273 อำเภอใน 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา จะมีการรายงานผ่าน Social Media ซึ่งทั้งเกษตรกรและเจ้าหน้าที่สามารถส่งข้อมูลที่พบปัญหาผ่านทาง Application Website หรือ Facebook เพื่อขอความช่วยเหลือ สนับสนุน ซึ่งเกษตรกรสามารถแจ้งเรื่องราวปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง หรือผ่านเจ้าหน้าที่เกษตร ซึ่งเมื่อได้รับแจ้งแล้ว เจ้าหน้าที่จะเข้าไปช่วยเหลือทันที หากยังไม่สามารถแก้ไขได้ทันทีจะส่งเรื่องผ่านระบบรายงาน จากนั้น ส่วนราชการกระทรวงเกษตรฯ ทั้งระดับกรม ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับพื้นที่ จะเร่งดำเนินการให้การช่วยเหลือและแก้ปัญหาต่อไป" นายปีติพงศ์ กล่าว
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปี ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการของกรมส่งเสริมการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ทดแทนระหว่างชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปี โดยการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกของเกษตรกรทดแทนการปลูกข้าวนาปี การส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย การทำไร่นาสวนผสม โดยให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกร และสนับสนุนการสร้างแหล่งน้ำในไร่นาของเกษตรกร ซึ่งเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรก็ได้ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน สินเชื่อ และเกษตรกร ร่วมบูรณาการจัดเสวนาปรับโครงสร้างการผลิต สู่การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า หาแนวทางบรรเทาปัญหาช่วยเหลือเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยหมุนเวียนในระบบการปลูกข้าว เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ และการทำเกษตรกรรมทางเลือก โดยได้แผนและแนวทางระยะยาวการปรับโครงสร้างการผลิตในเขตลุ่มเจ้าพระยาอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่และตามศักยภาพของตลาดรับซื้อต่อไป