อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯได้คัดเลือกศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ที่มีศักยภาพ จำนวน 25 แห่ง ใน 25 จังหวัด เพื่อพัฒนายกระดับและต่อยอดธุรกิจสหกรณ์เพื่อช่วยผลักดันสินค้าสหกรณ์ไปสู่ชุมชน ขยายผลไปสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพทางการตลาด ได้มาตรฐานและมีความเป็นไปได้สูง ได้แก่ ข้าวสาร น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์นม กาแฟสำเร็จรูป ผลไม้ สินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าประมงแปรรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เป็นต้น
"ปัจจุบันได้หารือร่วมกับกลุ่มแม็คโคร และกลุ่มเซเว่นอีเลฟเว่น (7-Eleven) เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตสินค้าสหกรณ์กลุ่ม CDCขยายไปสู่ชุมชม ร้านสะดวกซื้อ และตลาดโมเดิร์นเทรด เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าสินค้าสหกรณ์คุณภาพเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กับเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิต ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโซเชียลบิซเนส (Social Business) ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีด้วย" รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าว
นายสมชายกล่าวอีกว่า ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ที่มีศักยภาพทั้ง 25 แห่ง ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ 2 ขั้นตอน คือ 1.สินค้าสหกรณ์ที่มีอยู่เดิม จะมีการเจรจากับเครือข่ายผู้ซื้อและส่งขายตามเงื่อนไข และ2.ดึงบริษัทเอกชนมาเข้าร่วมทำซีเอสอาร์ (CSR) เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งศึกษารูปแบบการตลาดและช่องทางกระจายสินค้า จากนั้นจะขยายผลสู่บริษัทธุรกิจจำกัดเพื่อกระจายสินค้าจากกลุ่ม CDC ไปสู่ผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นและทั่วถึง ตรงตามความต้องการของลูกค้า ในราคาที่เหมาะสม คาดว่า จะเป็นกลไกช่วยผลักดันให้ธุรกิจ CDC เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"กลุ่ม CDC อาจต้องมีการสร้างตราสินค้าหรือแบรนด์ (Brand) ร่วมกันเพื่อทำตลาด พร้อมพัฒนาระบบโลจิสติกส์หรือขนส่งสินค้าสหกรณ์ขยายสู่ชุมชม ก้าวสู่การค้าโมเดิร์นเทรด และเข้าถึงผู้บริโภคภายในประเทศให้ได้มากที่สุด อนาคตกระทรวงเกษตรฯได้มีแผนส่งเสริมและผลักดันสินค้ากลุ่ม CDC คุณภาพมาตรฐานส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน คาดว่า จะทำให้ปริมาณและมูลค่าธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์เพิ่มสูงขึ้น" นายสมชายกล่าว