"ปัจจัยที่ทำให้กองทุนดังกล่าวเข้าเป้าหมายแรกได้ภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์ มาจากการจับจังหวะของผู้จัดการกองทุนที่อาศัยโอกาสเข้าลงทุนในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงจากกรณีความกังวลเรื่องปัญหาหนี้กรีซ โดยตลาดหุ้นยุโรปในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงหลังจากผลการลงประชามติของชาวกรีซที่ส่วนใหญ่เลือกโหวตปฏิเสธการรับเงื่อนไขของเจ้าหนี้ที่กำหนดให้รัฐบาลกรีซรัดเข็มขัดเพื่อแลกกับความช่วยเหลือด้านการเงิน ทำให้ตลาดกังวลว่ากรีซอาจจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน อย่างไรก็ดี ตลาดมีแรงซื้อและปรับตัวกลับขึ้นมา โดยสามารถปิดตัวในแดนบวกได้ต่อเนื่องหลังจากมีข่าวดีในเรื่องการเจรจากันเพิ่มเติมระหว่างรัฐบาลกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้ยุโรปที่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ โดยกรีซระบุที่จะยอมรับเงื่อนไขของมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อแลกกับการได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินรอบใหม่เพื่อชำระหนี้ให้แก่ ECB และ IMF ได้" นายนาวินกล่าว
สำหรับกองทุนเปิดเค ยูโรเปียน อิควิตี้ ทริกเกอร์ 2 (KEET2) จะลงทุนในกองทุนหลักในต่างประเทศ ได้แก่ กองทุน iShares STOXX Europe 600 (DE) พร้อมมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 75% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ โดยกองทุนหลักดังกล่าวจะมุ่งสร้างผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนี The STOXX Europe 600 (EUR) ที่ประกอบไปด้วยหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นยุโรปทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวน 600 หุ้น จาก 18 ประเทศทั่วทวีปยุโรป ทั้งนี้กองทุนมีเป้าหมายที่จะให้ผู้ลงทุนได้โอกาสรับผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ประมาณ 6%* ภายในระยะเวลา 1 ปี พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนรับผลตอบแทน 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เมื่อหน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 10.30 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนประมาณ 3% และครั้งที่ 2 จะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติทั้งหมดและเลิกกองทุนเมื่อหน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 10.70 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนอีกประมาณ 3%* (หมายเหตุ: *เป็นเพียงเป้าหมายการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดเพื่อเลิกกองทุนเท่านั้น ไม่ใช่ตัวประมาณการหรือรับประกันอัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงอาจจะได้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่อ้างถึง)
นายนาวินกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมของยุโรปในช่วงครึ่งปีหลัง 2558 จะมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าในปีนี้ เศรษฐกิจของยุโรปจะเติบโตที่ระดับ 1.5% และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 0% (จากเดิมที่อยู่ในแดนติดลบ) โดยปัจจัยบวกจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของธนาคารกลางยุโรปที่ยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน และการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบอย่างต่อเนื่องเป็นวงเงินกว่า 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน นับตั้งแต่มีนาคม 2558 – กันยายน 2559 ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินยูโรมีทิศทางอ่อนค่า และจะช่วยหนุนด้านกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นยุโรปโดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจส่งออก เนื่องจากรายได้เกินกว่าครึ่งของบริษัทจดทะเบียนยุโรปส่วนใหญ่มาจากนอกภูมิภาคยุโรป
นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรปยังได้ดำเนินการอัดฉีดเม็ดเงินให้แก่เศรษฐกิจของกรีซอีกครั้ง หลังจากกรีซได้ตกลงยอมรับเงื่อนไขการรับเงินกู้เพิ่มเติม ซึ่งส่งผลทำให้ธนาคารของกรีซจะสามารถกลับมาเปิดทำการได้ในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ และจะส่งผลบวกทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของยุโรปปรับตัวดีขึ้น และยังช่วยลดความกังวลในตลาดหุ้นยุโรปลง อย่างไรก็ดีนักลงทุนอาจต้องใช้ความระมัดระวังและจับตามองการแก้ไขปัญหาหนี้ของกรีซในระยะยาว ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะต่อไปด้วย