นางทิพพาภรณ์ (เจียรวนนท์) อริยวรารมย์ ประธานกรรมการมูลนิธิพุทธรักษา กล่าวว่า “ครอบครัว เจียรวนนท์ ได้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธรักษาขึ้น ด้วยเจตนารมณ์ในการเป็นผู้ให้แก่ผู้ขาดโอกาสทางสังคม ตามดำริของท่านประธานธนินท์ และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ ซึ่งยึดแนวทางการดำเนินกิจการที่ไม่ได้มุ่งความสำเร็จทางธุรกิจเพียงด้านเดียว แต่ยังมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย โดยที่ผ่านมามูลนิธิพุทธรักษา ได้สนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กผู้ขาดโอกาส พัฒนาสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา และสงเคราะห์ผู้ป่วยที่ขัดสนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเติมเต็มโอกาสในด้านต่างๆเพื่อการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ ซึ่งล่าสุด เป็นที่น่ายินดีที่มหาวิทยาลัยมหิดลและกลุ่มทรู โดยทรู อินโนเวชั่น ได้พัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์จดจำ (MeM) หรือ My Eye Memory เพื่อช่วยเพิ่มสมรรถนะในการติดต่อสื่อสารให้กับผู้พิการทางสายตา ซึ่งเป็นนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่มีคุณภาพระดับมาตรฐานสากล มูลนิธิพุทธรักษาจึงร่วมสนับสนุนการผลิตอุปกรณ์ดังกล่าว จำนวน 100 เครื่องแรก เพื่อส่งมอบให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 50 เครื่อง เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ และโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ และมอบให้แก่วิทยาลัยราชสุดา สถาบันอุดมศึกษาสำหรับผู้พิการ ของมหาวิทยาลัยมหิดล อีกจำนวน 50 เครื่อง เพื่อใช้ในการเรียนการสอนของวิทยาลัย ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ หวังว่าอุปกรณ์จดจำนี้จะช่วยลดข้อจำกัดและเพิ่มขีดความสามารถของผู้พิการในการสื่อสาร อันเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางในการประกอบอาชีพในสังคมได้อีกด้วย”
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “จากพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มุ่งมั่นสร้างความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมบนพื้นฐานของคุณธรรม เพื่อสังคมไทยและประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ มหาวิทยาลัย จึงส่งเสริมให้คณาจารย์และนักศึกษาพัฒนางานวิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งผลงานอุปกรณ์จดจำ (MeM) นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาลัยราชสุด ได้ร่วมกับทรู อินโนเวชั่น พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา ให้สามารถจดบันทึก แทนการใช้เครื่องเขียนอักษรเบรลล์ด้วยมือชนิดพกพา (Slate and Stylus) ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักเรียนผู้พิการทางสายตา เพราะจะช่วยให้จดบันทึก แก้ไขข้อมูล ทำสำเนา และส่งข้อมูลต่อให้ผู้อื่นได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอขอบคุณมูลนิธิพุทธรักษา ที่เล็งเห็นความตั้งใจของมหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคม และขอขอบคุณกลุ่มทรู ในการต่อยอดผลงานชิ้นนี้ให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันให้มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นนำความรู้มาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศต่อไป”
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ รองผู้อำนวยการและหัวหน้าศูนย์นวัตกรรม บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “กลุ่มทรู ในฐานะบริษัทที่ให้ความสำคัญด้านนวัตกรรม มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมไทย โดยนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีทางการสื่อสารและความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม มาร่วมสร้างคุณประโยชน์ให้แก่เยาวชนและผู้ด้อยโอกาสทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของกลุ่มผู้พิการซึ่งมีอยู่จำนวนมากในสังคม ซึ่งผลงานนวัตกรรมอุปกรณ์จดจำ (MeM) สำหรับผู้พิการทางสายตา เป็นนวัตกรรมที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทเมล็ดพันธุ์ความคิด (Idea Seed) จากโครงการประกวด ทรู อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ เดอะ เรียลลิตี้ 2012 ที่กลุ่มทรู จัดขึ้นเพื่อสร้างเวทีแห่งโอกาสให้นวัตกรไทยได้แสดงความสามารถ และพัฒนาผลงานที่มีคุณประโยชน์แก่สังคม และกลุ่มทรู โดยทรู อินโนเวชั่น ได้นำมาพัฒนาต่อยอดให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็นอุปกรณ์จดจำ (MeM) มีราคาย่อมเยา พร้อมฟังก์ชั่นการใช้งานที่สะดวก ด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับสากล โดยสามารถบันทึกข้อมูลด้วยการกดปุ่มตามอักษรเบรลล์ และย้อนกลับไปฟังความถูกต้องได้ รวมถึงส่งข้อมูลที่บันทึกไปยังอุปกรณ์ไอที เพื่อส่งข้อความหรือสร้างเอกสารให้คนอื่นได้ รองรับทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษ ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการทางสายตา สามารถสื่อสารกับคนปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สะท้อนความตั้งใจของกลุ่มทรู ที่ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้ดีขึ้น สอดคล้องกับแนวคิด “Creating a Better Life for the Disabled” ด้วยเชื่อมั่นว่าพลังแห่งการให้ที่ยิ่งใหญ่ จะสามารถมอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่คนในสังคม”
มูลนิธิพุทธรักษา ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2545 ตามดำริของท่านประธานธนินท์ และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ เพื่อขยายผลการสนับสนุนด้านการศึกษาที่มีคุณภาพแก่เยาวชนผู้ขาดโอกาส ซึ่งครอบครัวเจียรวนนท์ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง และด้วยเจตนารมณ์ใน “การให้” จวบจนปัจจุบันมูลนิธิพุทธรักษาได้ให้ทุนการศึกษาและช่วยเหลือโดยตรงกับเด็กและเยาวชนผู้ขาดโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมาแล้วกว่า 400 คน นอกจากนี้ยังได้ให้การช่วยเหลือทางอ้อมโดยส่งต่อความช่วยเหลือผ่านสถานศึกษาและองค์กรเครือข่ายต่างๆ โดยมีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 3,600 คนต่อปี ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทดีที ภายใต้การนำของนางทิพพาภรณ์ (เจียรวนนท์) อริยวรารมย์ ได้จัดสรรงบประมาณร้อยละ 2 ของยอดขายในทุกๆปี จากหน่วยธุรกิจหลัก อันได้แก่ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทดีไอดีไซน์ บริษัทดีซูพรีม บริษัทดีแพลน เซียงไฮ้ เพื่อเป็นแหล่งทุนสำหรับมูลนิธิพุทธรักษาทั้งในอดีต ปัจจุบัน และต่อเนื่องไปในอนาคต