รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นการตอบโจทย์ของเยาวชนเลือกในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่ใช่ได้เป็นอย่างดี
“ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี นักศึกษาจะได้ความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ทั้งเป็นการขับขี่มอเตอร์ไซค์อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และยังเป็นการพัฒนาฝีมือทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านเทคนิคในการปรับแต่งรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อเป็นแนวทางประกอบวิชาชีพได้อย่างมีมาตรฐาน ...ในการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาสาขาเทคนิคช่างยนต์ หมวดจักรยานยนต์ ซึ่งก็มีบรรจุอยู่ในหลักสูตรอยู่แล้ว ยิ่งจะเป็นการเพิ่มทักษะได้มากขึ้น และเมื่อมาร่วมกับยามาฮ่า ซึ่งพร้อมที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนในการจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า และก่อตั้งทีมกีฬาแข่งรถจักรยานยนต์ เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน ในหมวดวิชารถจักรยานยนต์ เป็นการเพิ่มความรู้และประสบการณ์จริง ในการเรียนการสอน โดยจัดทำขึ้นในรูปแบบของศูนย์บริการซ่อมรถจักรยานยนต์ และทีมกีฬาแข่งรถจักรยานยนต์ในวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนทั่วประเทศอีกด้วย.
..ดังนั้นจะทำให้เด็กอาชีวศึกษามีองค์ความรู้และประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะก้าวสู่ระดับนานาชาติ หากเมื่อเรียนจบแล้วไม่ตกงานอย่างแน่นอน และมีรายได้สูงเป็นระดับหลักแสนด้วย”
ประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรทางการกีฬา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค เพื่อรองรับการเติบโตของกีฬามอเตอร์สปอร์ตในประเทศไทยที่กำลังจะเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอาเซียน
“เพื่อสร้างเสริมพื้นฐานความรู้เชิงช่างให้กับนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา ทั้งพัฒนาบุคลากรต่อยอดองค์ความรู้ในเชิงเทคโนโลยีวิศวกรรม การบริการจัดการทีม เตรียมความพร้อมบุคลากรสู่การประกอบอาชีพทางด้านมอเตอร์สปอร์ต รวมทั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมระหว่างอาชีวศึกษาต่างๆ พร้อมสร้างเสริมวัฒนธรรม และความสมัครสมานสามัคคีต่อกัน”
สำหรับ 20 ทีมที่ได้คัดเลือกเข้าร่วมโครงการนี้ จากสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนทั่วประเทศ ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีชื่นชม ไทย-เยอรมัน สระบุรี, วิทยาลัยเทคโนโลยีวานรนิวาส (V-Tech), วิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ, วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา, วิทยาเทคโนโลยีพณิชยการอยุธยา, วิทยาลัยเทคโนโลยีพังโคนพณิชยการ, วิทยาลัยเทคโนโลยียโสธรอินเตอร์เนชั่นแนล, วิทยาเทคโนโลยีสารสนเทศเพชรบูรณ์, เทคโนโลยีอักษรพัทยา, วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการนครนายก, วิทยาลัยเทคโนโลยีเอเชีย,วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค), เทคโนโลยีอีสานเหนือ, เทคโนโลยีสงขลา, วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการกาฬสินธุ์, วิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงธน, วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก, เทคโนโลยีมีนโปลีเทคนิค, วิทยาลัยเทคโนโลยีหาดใหญ่ และวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานเทคโนโลยี โดยสถาบันเหล่านี้จะได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ได้แก่ การฝึกอบรมสำหรับนักแข่งจะได้เรียนรู้ทักษะการขับขี่จักรยานยนต์แบบทางเรียบในเซอร์กิตที่มีการจัดการความปลอดภัย ส่วนการฝึกอบรมเทคนิคสำหรับช่างเครื่องได้เรียนรู้ด้านเทคนิคการปรับแต่งรถจักรยานยนต์ในระบบต่างๆ พร้อมการปฏิบัติการจริง โดยการให้ลงแข่งขัน จำนวน 4 ครั้ง ดังนี้ สนาม 1 วันที่ 24 – 26 ก.ค. 2558 ที่สนามไทยแลนด์เซอร์กิต / สนาม 2 วันที่ 7 – 9 ส.ค. 2558 ที่สนามพีระอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต / สนาม 3 วันที่ 4 – 6 ก.ย. 2558 ที่สนามไทยแลนด์เซอร์กิต และสนาม 4 วันที่ 10 – 12 ต.ค. 2558 ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต ทั้งนี้สถาบันที่ชนะเลิศจะได้รับสิทธิพิเศษเดินทางเข้าร่วมชมกิจกรรมการแข่งขันรถจักรยานยนต์ในระดับนานาชาติ MF Superbike All Japan Road Race Championship 2015 และสำหรับทีมที่ชนะการสะสมคะแนนใน 4 สนามแข่งขันจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมแข่ง Moto Championship ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยก็
อต-จักรพันธุ์ พุทธจักรจันทร์ วัย 19 วิทยาลัยเทคโนโลยีสงขลา ปวช.3 สาขาช่างยนต์ พกความมั่นใจมาเต็มร้อยในการแข่งขันครั้งนี้
“ผมจะต้องทำให้ได้ มีความมั่นใจมาก ต้องติด 1 ใน 3 ให้ได้ มีความชื่นชอบและใฝ่ฝันมาตังแต่เด็กแล้วครับ เลยเลือกที่จะเรียนทางด้านนี้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทางด้านเทคนิคช่างยนต์มาตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มเรียนแล้ว และดีนะครับที่มีโครงการแบบนี้ จะได้เพิ่มความรู้และประสบการณ์ให้เราไปต่อยอดได้ แล้วในอนาคตอยากเป็นนักออกแบบรถครับ จะได้ตกแต่งรถในสไตล์ที่ชอบ คือแบบซูเปอร์คาร์ สวย และต้องแรง
..ผมไม่เคยไปขี่แว้นมอเตอร์ไซค์เลยครับ ผมอยากจะบอกว่าสำหรับเพื่อนๆ น้องๆ ที่ไปขี่ตามท้องถนน มันไม่ปลอดภัย อันตรายมาก ควรจะมาขี่แข่งกันในสนามมากกว่า”
จ๋อม-เทอดไทย ดวงแก้ว วัย 18 ปี วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการกาฬสินธุ์ ปวช.3 บอกเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เวลา ในหลักสูตรการเรียนก็มีการสอน ยิ่งมาร่วมในโครงการนี้ มันเป็นความท้าทายมาก
“ผมชอบการแข่งรถมาก และเป็นครั้งแรกที่ได้ที่ได้แข่งขันแบบนี้ เป็นการเพิ่มทักษะให้ตัวเอง และยังได้รับความรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งคนรุ่นใหม่ต้องใฝ่รู้กันนะครับ
...และอยากจะฝากไปถึงเด็กแว้นที่ไปแข่งกันตามท้องถนน มาร่วมกันแข่งในสนามแข่งกันดีกว่า ความปลอดภัยก็สูง และไม่ทำให้ใครเดือดร้อนด้วยครับ”
บาส-บุรินทร์ อินทโชติ วัย 15 ปี วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการนครนายก ปวช.2 หนุ่มร่างเล็กแต่หัวใจใหญ่เกินร้อย ด้วยความที่เป็นคนรักรถเป็นชีวิตจิตใจ
“ผมชอบซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ครับ บางทีก็ไปรับจ้าง บางทีก็ไปช่วยบริการตามศูนย์ชุมชนอำเภอต่างๆ ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ดี แต่ที่สำคัญที่สุด ได้ช่วยเหลือคนนะครับ
...สำหรับเรื่องเรียนทางด้านช่างยนต์ไม่ต้องห่วงเลย ผมทำได้ โอเค.เลยครับ ผมเคยเข้าร่วมแข่งรถเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นการแข่งทางตรงที่สนามปราจีนครับ สำหรับการแข่งขันในสนามนี้ ผมมั่นใจครับ ต้องทำให้ได้ และจะทำให้ดีที่สุด”
ปิดท้ายด้วย ทัด-อภิสิทธิ์ กุยรัมย์ วัย 18 ปี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) ปวช.3 สาขาเทคโนโลยียานยนต์ เล่าว่า มีเพื่อนๆ ชอบแว้น ผมเข้าใจเขาครับ เขาอยากลองความเร็ว ใครแรงกว่า...เจ๋ง!
“แต่อยากจะบอกเพื่อนๆ ว่า ถ้าจะให้ดีมาลองความเจ๋งกันในสนามแข่งดีกว่าครับ ปลอดภัยกว่าเยอะ และทำในสิ่งที่ถูกต้องด้วย ทั้งพ่อ-แม่ ตัวเราก็ภูมิใจ
...ตัวผมเองก็ชอบแข่งรถ และอยากเป็นนักแข่งรถด้วยครับ การเข้าร่วมในโครงการ Yamaha Moto Challenge 2015 ผมมั่นใจ 1000 % ครับ ผมว่าในการแข่งขันไม่จำเป็นต้องมีทักษะ แต่ขอให้มีความมั่นใจ อยู่ที่ตัวเราเป็นผู้กำหนด...ความเร็ว ความแรง สุดใจไปเลยครับ”
โครงการ Yamaha Moto Challenge 2015 เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ควรร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ก้าวสู่เส้นทางแห่งอนาคตที่สดใส ‘เลือกในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่ใช่!
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit