เสวนาเปิดมุมมอง“การศึกษาเพื่ออาชีพและมาตรฐานวิชาชีพสากล...บนเส้นทางสู่ประชาคมอาเซียน”

29 Jul 2015
ขณะที่บ้านเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราเผชิญปัญหารขาดแรงงานทักษะวิชาชีพ 4 แสนคน และยังไม่ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพต่างๆให้เป็นสากล เมื่อเร็วๆนี้ วิทยาลัยรีเจ้นท์นานาชาติเพื่ออาชีพได้เปิดเวทีเสวนาเรื่อง "การศึกษาเพื่ออาชีพและมาตรฐานวิชาชีพสากลบนเส้นทางสู่ประชาคมอาเซียน" โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากแวดวงการศึกษา หอการค้า และสภาอุตสาหกรรม ได้แก่ ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ ประธานกรรมการกลุ่มโรงเรียนรีเจ้นท์, ดร.ชุมพล พรประภา นายกก่อตั้งสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยและอดีตประธานกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, มิสฟรานเชสก้า วู้ดเวิร์ด ประธานฝ่ายต่างประเทศ Pearson UK องค์กรการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก, นายปัญญชาติ ปัญญาวงษ์ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา, นายคริส แท๊ตเชอร์ รองประธานสภาหอการค้าอังกฤษในประเทศไทย และ นายนิติน ดั๊ตต้า ซีอีโอ วิทยาลัยรีเจ้นท์นานาชาติเพื่ออาชีพ

ดร.ชุมพล พรประภา นายกก่อตั้งสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยและอดึตประธานกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "กว่า 30 ปี ที่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการศึกษา ก่อนการปฎิรูปผมยังไม่เคยเห็นว่ารัฐบาลใดจะมีเข็มมุ่งทางการเมืองในการแก้ปัญหาการศึกษาอย่างเข้าใจและอย่างจริงจัง การศึกษาเพื่อาชีพและมาตรฐานวิชาชีพระดับสากล (Professional Education and International Qualifications) มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากเสริมขีดความสามารถของคนไทยให้แข่งขันได้ในวิถีประชาคมอาเซียน หากจะย้อนหลังไปดูสมัยรัฐประหารช่วง2535 สมัย คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เด็กไทยสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้เป็นครั้งแรก จากนั้นรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าซึ่งมี งบประมาณการศึกษาของประเทศไทยกว่า 5 แสนล้าน แต่ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นเลย หากเราจะพัฒนาการศึกษาเพื่ออาชีพ หรือ Professional Education ก็ต้องทำกันในสมัยรัฐบาล อย่าปล่อยให้การศึกษาอยู่ในมือนักการศึกษาที่ถูกนักการเมืองที่มีคุณภาพน้อยใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เพราะจะไปไม่ถูกทาง ที่ผ่านมาระบบการศึกษาไทยมีความสูญเปล่า และการใช้อำนาจโดยมิชอบอย่างมากมาย รัฐบาลชุดปฎิรูปนี้มีความกล้า นับเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีกล้าสั่งยุบองค์การค้าคุรุสภา และองค์กรที่ดูแลสวัสดิภาพครู ขจัดการบริหารงานแบบหวงอำนาจรวมศูนย์ทำให้การศึกษาไม่ก้าวหน้า เพราะรวมอำนาจจัดซื้อจัดจ้าง ต่อไปนี้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องเป็น อิสระไม่ถูกครอบงำโดยนักการเมืองด้อยคุณภาพ

จำนวนนักเรียนอาชีวะในระบบการศึกษาไทยลดลงไปเรื่อยๆในปี 2555 มีจำนวนผู้เรียนกว่า 346,000 คน ปี 2556 จำนวน 340,000 คน ปี 2557 เหลือจำนวน 270,000 คน เฉพาะปี 2557 มีกรณียกพวกตีกันและเสียชีวิต 10 ราย ส่วนในปี 2558 เสียชีวิตแล้ว 19 ราย ดังนั้นการยกระดับการศึกษาเพื่ออาชีพสู่มาตรฐานสากล จะเป็นทางเลือกใหม่ของการปฏิรูปการศึกษาเพื่ออาชีพ จำนวนโรงเรียนเพื่ออาชีพไม่ต้องเพิ่มจำนวนแต่ควรไปเพิ่มด้านคุณภาพหลักสูตรและการเรียนการสอน และส่งเสริมให้ภาคเอกชนเปิดสอนการศึกษาเพื่ออาชีพกันให้มากขึ้น การกำหนดมาตราการที่จริงจังในการยกระดับภาษาอังกฤษต้องรีบทำในช่วงนี้"

คุณปัญญชาติ ปัญญาวงษ์ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กล่าวว่า "จากประสบการณ์ที่ได้มีส่วนร่วมในสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ซึ่งมีสถาบันการศึกษากว่า 421 แห่ง หากรวมอาชีวะเอกชนจะมีนักศึกษารวมเกือบ 1 ล้านคน มี 9 ประเภทวิชา 350 หลักสูตร หากเราสามารถพัฒนาคุณภาพและส่งเสริมให้อยู่ในทิศทางเดียวกับการพัฒนาประเทศ ก็จะเป็นพลังมหาศาล กล่าวได้ว่า อาชีวะของไทยนั้นได้แตกแขนงเฉพาะทาง ยิ่งมากยิ่งดี เช่น วิทยาลัยเกษตร พาณิชยกรรมค้าปลีก คหกรรม ศิลปหัตถกรรม สารพัดช่าง เป็นต้น แต่ปัญหาที่สั่งสมมานานทำให้สถาบันอาชีวศึกษา เด็ก 70 % จะไปเรียนต่อ และ 30 % เข้าตลาดแรงงาน ในจำนวนเด็กที่เรียน 10 % แรก จะเรียนไม่จบ และ 20 % ออกกลางคัน จึงเหลือผู้จบการศึกษาเพื่ออาชีพเข้าตลาดแรงงานน้อย ส่วนที่ไปเรียนต่อกับ 3 สถาบัน พระจอมเกล้าฯ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลก็มีที่นั่งให้น้อยมาก สำหรับสถาบันราชภัฏส่วนมากจะสอนวิชาทางสังคมศาสตร์ เมื่อจบ 3 ปี ปวช. ไปต่อ ป.ตรี ทางสังคม จบออกมาก็จะทำงานไม่ได้ทันทีเพราะการพัฒนาวิชาชีพไม่ต่อเนื่อง ปัจจุบันสถาบันการอาชีวศึกษาได้เปิดหลักสูตรป.ตรีเพื่ออาชีพ 23 แห่ง ทำให้ผู้เรียนอาชีวะสามารถจบ ป.ตรีได้ มีความเห็นว่า เราควรหาทางลดปริมาณนักศึกษาออกกลางคัน ซึ่งมีสูงถึงปีละนับพันคน และร่วมกับภาคเอกชนสร้างหลักสูตรใหม่ๆที่รองรับการพัฒนาประเทศและตรงความต้องการของธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยีท่าอากาศยาน นักปิโตรเคมี"

ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ ประธานกรรมการวิทยาลัยรีเจ้นท์นานาชาติเพื่ออาชีพ (Regent's International College) มาตรฐานสากลแห่งแรกของไทย กล่าวว่า "หลังจากที่ผมประสบความสำเร็จในการทำโรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์ระดับขั้นพื้นฐานมานานถึง 20 ปีและปัจจุบันมีนักเรียนรวมสองแห่ง กรุงเทพและพัทยาถึงประมาณ 1,800 คนและยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผมจึงมาดูปัญหาของประเทศคือปัญหาวิกฤติแรงงานวิชาชีพที่ยังขาดแคลนปริมาณ และมาตรฐานสากล ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่าจบอาชีวะต้องมีงานทำ โดยเราได้พัฒนาเป็นหลักสูตรนานาชาติ (International Qualifications) มุ่งเสริมทวิศึกษา (Dual system) เพื่อให้นายจ้างและว่าที่ลูกจ้างได้มีโอกาสทำงานร่วมกันในการพัฒนาทักษะการทำงานให้มีคุณภาพที่สามารถรองรับเศรษฐกิจยุคดิจิตอลและประชาคมอาเซียน เพื่อทำให้มีคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพของคนไทยเป็นสากล จบแล้วมีงานมั่นคง ทำรายได้ดีและเป็นที่ต้องการของนายจ้างและองค์กรในอาเซียน สามารถพัฒนาอาชีพได้ยั่งยืน หลายประเทศในอาเซียนได้ยกระดับมาตรฐานการศึกษาวิชาชีพเป็นระดับสากลมาหลายปีแล้ว (International Qualifications) คงเหลือแต่ประเทศไทยและกัมพูชา สำหรับประเทศอังกฤษ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฮ่องกง ออสเตรเลีย จีน พม่า ต่างประสบผลสำเร็จอย่างสูงด้วยมาตรฐานการศึกษา BTEC-Pearson UK ซึ่งกำลังให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลไทยในการจัดทำโครงการนำร่องรร.มัธยมเพื่ออาชีพในจังหวัดภูเก็ตในหลักสูตร Hospitality ระดับนานาชาติ ซึ่งจะป็นทวิศึกษาโดยร่วมมือใกล้ชิดกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม วิทยาลัยรีเจ้นท์นานาชาติเพื่ออาชีพ เกิดจากความร่วมมือระหว่างโรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์ ร่วมกับ BTEC - Pearson บอร์ดการศึกษาใหญ่ที่สุดของประเทศอังกฤษ และของโลกผู้พัฒนาหลักสูตร IGCSE ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศอังกฤษและของโลก ปัจจุบัน BTEC ของ Pearson มีมากกว่า 5,500 หลักสูตร มีนักศึกษารวมทั่วโลก 1.1 ล้านคนต่อปี ได้ตรวจและอนุมัติให้ รีเจ้นท์ เป็นตัวแทนในการนำหลักสูตรมาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทยได้ นับเป็นสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติเพื่ออาชีพครั้งแรกในประเทศไทย ทั้งในระดับมัธยมปลาย และอนุปริญญา และสามารถไปเรียนต่ออีกเพียงหนึ่งปีเพื่อรับปริญญาตรีในประเทศอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลียและสิงคโปร์ เรียกว่า Top up degree ประกอบด้วย 4 คณะ คือ 1.คณะบริหารธุรกิจ (Business Management) 2.คณะการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว (Hospitality and Tourism Management) 3. คณะการบัญชีนานาชาติ (International Accounting) 4.คณะคอมพิวเตอร์เพื่อธุรกิจนานาชาติ (ICT for Business) หลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษโดยหลักสูตรมัธยมปลาย BTEC levels 1 - 3 เรียน 1 ถึง 3 ปี (ขึ้นอยู่กับอายุและพื้นฐานภาษาอังกฤษ) หลักสูตรอนุปริญญา BTEC levels 4 - 5 เรียน 2 ปี และไปต่ออีก 1 ปีที่เมืองนอกเพื่อรับปริญญาตรีจาก 250 มหาวิทยาลัยในอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลียและสิงคโปร์ กล่าวโดยสรุปคือเรียน 2 ปีในไทยและอีก 1 ปี สามารถเลือกเรียนต่อปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยชั้นนำในนานาประเทศทั่วโลกกว่า 250 แห่ง"มิสฟรานเชสก้า วู้ดเวิร์ด ประธานฝ่ายต่างประเทศ Pearson องค์กรการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวว่า "ทิศทางวิถีโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทำให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องการทักษะการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นจริง ดังนั้นการศึกษาก็ต้องพัฒนาตามไปด้วย กว่า 14 ปี ที่ดิฉันมีประสบการณ์ในการบริหารระบบการศึกษาของ Pearson ทั้งในประเทศอังกฤษและความร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ทำให้เห็นถึงปัญหาการพัฒนาหลักสูตรที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ จึงต้องมีการอัพเดทกับเทคโนโลยีตลอดเวลา มาตรฐานสากล หรือ International Qualifications ช่วยให้ผู้เรียนสถาบันการศึกษาและนายจ้างสามารถทราบถึงทักษะบุคลากรเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ปัจจุบันนี้ทั่วโลกมีคนหนุ่มสาวที่ว่างงานกว่า 9 ล้านคน นับเป็นความสูญเสีย การเปิดโอกาสให้ทรัพยากรบุคคลได้ฝึกฝนทักษะการทำงานในสาขาวิชาชีพที่ตนสนใจ นับเป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับการออกไปทำงานในชีวิตจริง โดยผ่านระบบทวิศึกษา จากความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาเพื่ออาชีพกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในการออกแบบหลักสูตร ฝึกงาน ในสภาวะที่เป็นจริง เน้นการเรียนรู้แบบแก้ปัญหาและมุ่งผลลัพธ์

มร.คริส แท๊ตเชอร์ รองประธานสภาหอการค้าอังกฤษในประเทศไทย กล่าวว่า "ปัจจุบันเรามีสมาชิกหอการค้าประมาณ 600 บริษัท ที่จะได้ร่วมมือกับวิทยาลัยรีเจ้นท์นานาชาติเพื่ออาชีพ ในการออกแบบพัฒนาหลักสูตร อะไรที่ผู้ประกอบการต้องการ สาระสำคัญของการทำงานในวิชาชีพต่างๆ ส่วนภาษาอังกฤษนั้นมีความสำคัญเนื่องจากเป็นภาษาทำงานของ AEC หากเราจะทำงานกับผู้อื่น เราต้องมีความสามารถจริง และมีความเข้าใจว่าแต่ละประเทศต่างมีวัฒนธรรมและสังคมที่แตกต่างกัน สังคมไทยกำลังก้าวเป็นสังคมสูงวัย (Aging Population) ดังนั้นในอนาคตประชากรวัยทำงานของไทยจะลดน้อยลง เราจึงต้องพัฒนาคุณภาพและผลิตผลให้มากขึ้น (more productive) มิเช่นนั้นประเทศไทยจะแข่งขันกับใครไม่ได้ การศึกษาเพื่ออาชีพจึงสำคัญยิ่ง ถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ มาเรียนสายอาชีพ การเข้ามหาวิทยาลัยได้เงินเดือนดีจริงหรือ ทบทวนใหม่ หากคิดจะเรียนต่อ ป.โท หรือป.เอกว่าตรงกับเป้าหมายในชีวิตเราหรือไม่ ทางหอการค้าฯรู้สึกยินดีที่ Pearson ได้มาร่วมกับวิทยาลัยรีเจ้นท์นานาชาติ เราเองก็เผชิญปัญหาในการรับพนักงานใหม่ ซึ่งมักจะขาดทักษะการทำงานและการประสานงาน อ่อนภาษาอังกฤษ หากประเทศไทยยังไม่เร่งยกระดับการศึกษาเพื่ออาชีพสู่สากล จะทำให้อธิปไตยของประเทศหายไปเหมือนประเทศกรีซก็เป็นได้

มร.นิติน ดัตต้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของวิทยาลัยรีเจ้นท์เพื่ออาชีพ กล่าวว่า "BTEC ในประเทศไทย มีเป้าหมายจำนวนนักศึกษา ในปี 2559 ประมาณ 100 คน และ 1,000 คน ในอีก 5 ปีข้างหน้า กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียน ได้แก่ นักเรียนนานาชาติในประเทศไทยและประเทศอาเซียน นักเรียนจากโรงเรียนสองภาษา นักเรียนมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศที่ต้องการทางเลือกใหม่ของความก้าวหน้าในอาชีพโดยสามารถต่อยอดไปถึงปริญญาตรีได้โดยเรียนเพี่ยง 1 ปีในต่างประเทศ สำหรับนักเรียนต่างจังหวัดและต่างประเทศ เรามีหอพักที่ทันสมัยสำหรับนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หลักสูตร BTEC ประกอบด้วย หลักสูตรสู่ปริญญาตรี 3 ปี โดยเรียน Level 4 and 5 ใน2 ปี ในประเทศไทย และอีก 1 ปี ณ มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกกว่า 250 แห่ง ที่ผู้เรียนเลือกได้ พร้อมรับคุณวุฒิปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยนั้นๆโดยตรง แน่นอนนักเรียนที่ฐานภาษาอังกฤษอ่อนยังไม่เข้าเกณฑ์ จะต้องเรียน foundation 1 ปีก่อน จึงต้องใช้เวลาเรียนในประเทศไทย 3 ปีและต่อ 1 ปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศอังกฤษ พร้อมหลากหลายทางเลือกกับมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 250 แห่งทั่วโลกที่สามารถเลือกไปเรียนต่อได้ การเรียนในประเทศไทยจะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 3 ปี โดยแต่ละปีแบ่งออกเป็น 3 เทอมผู้เรียนจะได้เรียนทั้งภาคทฤษฎีผสมการปฏิบัติงานไปพร้อมกัน และลงมือฝึกปฏิบัติงานแบบเต็มเวลาในเทอมที่ 3 ของปีที่ 1 และ 2 ซึ่งผู้เรียนจะได้ฝึกงานกับบริษัทชั้นนำในสายอาชีพนั้นๆโดยตรง ตามยุทธศาสตร์ dual system ของ สนช. และกระทรวง เมื่อจบการศึกษา 3 ปีในประเทศไทย ผู้เรียนของเราจะได้รับวุฒิ Higher National Diploma (HND) จากบอร์ดการศึกษาของอังกฤษ Pearson-Edexcel และในปีสุดท้ายของการเรียนนั้นผู้เรียนจะได้รับวุฒิปริญญาตรีจากทางมหาวิทยาลัยที่เลือกเรียนต่อโดยตรง Regent's International College ในไทยไม่สามารถประสาทประกาศนียบัตรหรือ ปริญญาตรีได้ แต่เป็นสถาบันต่างประเทศเป็นผู้ออก เหมือนโรงเรียนนานาชาติในปัจจุบัน

ประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนหลักสูตร BTEC แบบ Dual system คือ ได้ฝึกปฏิบัติในหน่วยงานหรือองค์กรเฉพาะด้านในสาขานั้นๆโดยตรง เรียนรู้จากอาจารย์เจ้าของภาษาที่เปี่ยมด้วยคุณภาพและประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพนั้นๆ เพื่อตอบโจทย์นายจ้างตรงความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม,ผู้เรียนจะได้รับวุฒิปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่เลือกเรียนในปีสุดท้าย และจะได้รับคุณวุฒิจากบอร์ดการศึกษา Pearson-Edexcel ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล ผู้เรียนสามารถเลือกศึกษาต่อในปีสุดท้ายได้มากกว่า 250 มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ได้เรียนในหลักสูตรระดับสากลที่สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ทั่วโลก ผู้ที่จบ BTEC ระดับ 5 ( แทน ปวส.) จะได้งานทำที่มั่นคง มีรายได้ที่มั่งคั่งและมีอนาคตที่ยั่งยืน สมตามเจตนาของการปฏิรูปการเรียนเพิ่มทักษะอาชีพของรัฐบาลชุดนี้

การศึกษาเพื่ออาชีพในมาตรฐานสากล เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนไทยในการเตรียมความพร้อมด้านทักษะอาชีพก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานในวิถีประชาคมอาเซียนและการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไป