นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ ศ.ศ.ป. กล่าวว่า งานหัตถกรรมพื้นบ้านมีคุณค่าในตัวเองสูง เพราะเป็นงานที่ผลิตขึ้นโดยใช้ฝีมือ ผู้ที่ทำต้องมีทักษะและความชำนาญในการผลิต สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นความรู้ องค์ความรู้ ความสามารถและทักษะภูมิปัญญาของชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดและสั่งสมประสบการณ์ และถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นวัฒนธรรม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสานต่อและอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่สืบไป ศ.ศ.ป. จึงได้สานต่อดำเนิน"โครงการเชิดชูครูช่างศิลปหัตถกรรม 2558 "โดยคัดสรรช่างฝีมืองานศิลปหัตถกรรมของไทย ที่มีทักษะ มีผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ภูมิปัญญาในระดับยอดเยี่ยม พร้อมจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ต่อไป
"สำหรับเกณฑ์พิจารณา และการตัดสินผลงานในโครงการฯ ดังกล่าว ได้รับเกียรติจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญงานศิลปหัตถกรรมจากสถาบันภาครัฐมาเป็นคณะกรรมการ โดยมีเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกครูช่างศิลปหัตถกรรม ที่มีคุณลักษณะ 4 ด้าน คือ 1.ด้านการอนุรักษ์และสืบทอดงานหัตถศิลป์ไทย 2. ด้านฝีมือ องค์ความรู้ และนวัตกรรมเชิงภูมิปัญญา 3. ด้านสังคม (การเป็นที่ยอมรับด้านตัวบุคคล และ/หรือ ผลงาน) 4. ด้านความคิดสร้างสรรค์และการตลาด สิ่งที่คาดหวังเรามีแผนในการส่งเสริมและสืบสานผลงานจากช่างฝีมืองานศิลปหัตถกรรม พร้อมเปิดรับไอเดียสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สนับสนุนให้ชาวบ้านนำภูมิปัญญาท้องถิ่นได้มีโอกาสสร้างสรรค์เป็นผลงานเผยแพร่สู่สาธารณชนตลอดจนสามารถผลักดันผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ กระจายรายได้กลับสู่ครัวเรือน เป็นการต่อยอดความคิด การพัฒนาและเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ให้เป็นสินค้าที่นิยมทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศในอนาคต โดยเฉพาะปลายปีนี้เปิดประตูรับประชาคมอาเซียน หรือ AEC"
นางพิมพาพรรณ กล่าวอีกว่าในปีนี้ 2558 มีผู้ที่ได้รับการคัดเลือก 20 สุดยอดผลงานช่างศิลปหัตถกรรมแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆคือ เครื่องทอ เครื่องจักสาน เครื่องดิน เครื่องไม้ เครื่องรัก เครื่องกระดาษ และกลุ่มประเภทอื่นๆ เป็นต้นซึ่งมีผู้ที่ได้รับการเชิดชู และผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการ ดังนี้ 1. พิเชษฎร์แก้ววรรณะประเภทเครื่องทอ (ผ้าไหมยกดอก) 2. วินัย ปัจฉิมประเภทเครื่องทอ (ผ้าไหมมัดหมี่)3. จงจรูญ มะโนคำประเภทเครื่องทอ (ไหม) 4. สำหรับ งานไวประเภทเครื่องทอ (ผ้าไหม มัดหมี่) 5. สุระมนตรี ศรีสมบูรณ์ประเภทเครื่องทอ (ผ้าไหม) 6. สงคราม งามยิ่งประเภทเครื่องทอ (ผ้าไหมมัดหมี่) 7. จุไรรัตน์ สรรพสุขประเภทเครื่องจักสาน (กก/ปอ) 8. ร่อหมาน ขรีดาโอ๊ะประเภท เครื่องจักสาน (ไม้ไผ่) 9. แก้ว ตาสิงห์ประเภทเครื่องจักสาน (ใบตาล) 10. สมศรี ไม้ทองดีประเภทเครื่องจักสาน (เปลถักจากเส้นใยฝ้ายผสมเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ) 11. เกษร บานชลประเภทเครื่องจักสาน (กก) 12. ทวี พันธ์ศรีประเภทเครื่องดิน (เบญจรงค์) 13. เจน นวลสุภาประเภทเครื่องไม้ 14. บุญรัตน์ ทิพย์รัตน์ประเภทเครื่องไม้ (เครื่องดนตรี) 15. ธนเดช บุญนุ่มผ่องประเภทเครื่องไม้ 16. ธงชัย สายแสงจันทร์ ประเภทเครื่องไม้ 17. จักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ ประเภทเครื่องรัก18. เบญจพล สิทธิประณีตประเภท เครื่องกระดาษ 19. เปี่ยม ส่งชื่นประเภทเครื่องกระดาษและ 20. สนั่น บัวคลี่ศิลปหัตถกรรมประเภทอื่นๆ (เครื่องดนตรี)
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 20 ท่าน จะได้รับเกียรติบัตรเชิดชู พร้อมนำผลงานมาจัดแสดงในนิทรรศการ "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" และการสาธิตงานหัตถกรรมของครูช่าง ภายในงาน "นวัตศิลป์ไทย เทิดไท้องค์ราชินี ครั้งที่ 3" มีกำหนดจัดงานขึ้น ระหว่างวันที่ 8-12 สิงหาคม นี้ ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สนใจร่วมชมนิทรรศการฯหรือผลงานติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/craftmasterbysacict
ฃ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit