กรมหม่อนไหม เตรียมจัดงานใหญ่เฉลิมพระเกียรติพระมารดาแห่งไหมไทย ดึง 10 สุดยอดผ้าไหมประจำถิ่น ประชันใน “งานตรานกยูงพระราชทาน ครั้งที่ 10”

07 Aug 2015
กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงาน "ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 10" ภายใต้แนวคิด "ผ้าไหมประจำถิ่นไทย" เพื่อเฉลิมพระเกียรติและสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเพื่อให้ประชาชนและเยาวชนมีความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เกิดความภาคภูมิใจและร่วมใจกันอนุรักษ์อาชีพนี้ให้คงอยู่สืบไป ทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีโอกาสขยายตลาด เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2558 ณ ฮอลล์ 8 อิมแพค เมืองทองธานี ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดงานในวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม 2558 เวลา 14.30 น.

นางวีณา พงศ์พัฒนานนท์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ผ้าไหมไทยเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงทั้งในด้านความสวยงามและความเอกลักษณ์ การผลิตผ้าไหมไทยเป็นภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่กับประเทศไทย และเผยแพร่ให้ทั่วโลกรู้จักถึงคุณค่าของผ้าไหมไทย สำหรับแนวคิดผ้าไหมประจำถิ่นไทยนั้น ถือเป็นหนึ่งไฮไลท์สำคัญ ภายในงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการผ้าไหมประจำถิ่น 10 ลวดลาย ที่สวยงาม โดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะ ประกอบด้วย

  • ผ้าไหมโฮล ผ้าไหมมัดหมี่จากจังหวัดสุรินทร์ โดยอาจารย์สุรโชติ ตามเจริญ มีเอกลักษณ์ที่การสร้างลวดลายด้วยกระบวนการมัดย้อมเส้นไหมและลวดลายก่อนนำมาทอเป็นผืนผ้า
  • ผ้าไหมตีนจก โดยอาจารย์นุสรา เตียงเกตุ วัฒนธรรมแต่งกายของชาวไท-ยวน ราชบุรี ซึ่งมีซิ่นตีนจก เฉพาะตีน จกทั้งตัว และ ซิ่นตีนจกตัวยกมุกสลับหมัดหมี่ มีลวดลายละเอียดด้วยวิธีเฉพาะที่เรียนกว่า "การจก"
  • ผ้าไหมตีนแดง โดย นางรุจาภา เนียนไธสง เกษตรกรดีเด่นด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ประจำปี 2558 เป็นผ้าไหมเอกลักษณ์ประจำถิ่นของชาวอำเภอพุทไทสง และอำเภอนาโพธิ์จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผ้าไหมหมัดหมี่ที่มีส่วนเชิงเป็นพื้นแดง มีเทคนิคการขิดเก็บเส้นไหมสี หรือ การเก็บตีนดาว เพื่อความสวยงามและแสดงถึงฝีมือของผู้ทอ
  • ผ้าไหมยกดอกเนินธัมมัง เป็นผ้าไหมที่พัฒนามาจากลายผ้ายกเมืองนครฯ ซึ่งเป็นผ้าทอพื้นเมืองโบราณที่สืบทอดกันมา เป็นผ้าชั้นสูงเป็นงานประณีตศิลป์ที่ข้าราชบริพานในอดีตใช้ใส่เมื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน
  • ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมทอมืออันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูไท เป็นผ้าไหมที่ได้รับความนิยมสูง ด้วยจุดเด่นที่ลวดลายสีสัน ความมีระเบียนเรียบเงาของผ้า
  • ผ้าไหมยกดอกนาหมื่นศรี เป็นผ้าไหมที่เกิดจากการทอด้วยวิธียกดอก หรือการสร้างลวดลาย โดยการเพิ่มด้ายพุ่ง มักใช้ลวดลายดั้งเดิมที่มีความซับซ้อน เช่น ลายลูกแก้ว ลายแก้วชิงดวง ลายดอกพิกุล เป็นต้น
  • ผ้าไหมยกดอกลำพูน ที่มีความนูนของลวดลาย ที่เด่นเรื่องราวลายดอกไม้ ใบไม้
  • ผ้าไหมขิด ผ้าไหมพื้นเมืองของภาคอีสาน บางส่วนของภาคเหนือ และภาคกลาง การทอผ้าขิดต้องอาศัยฝีมือ ความชำนาญ และความอดทนอย่างสูง ด้วยเทคนิคที่ซับซ้อน และ
  • ผ้าไหมยกดอกทองโบราณอยุธยา จากจังหวัดอยุธยา ที่ละเอียดลออสวยงาม
  • ผ้าไหมหางกระรอก พบมากในแถบอีสานใต้ เป็นผ้าทอโบราณที่มีลักษณะลวดลายเรียบง่าย แต่แผงด้วยความประณีตและงดงาม ใช้เทคนิคการทอผ้าที่เป้นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไท คือ การควบเส้น

นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการทอผ้าและแสดงผลงานผ้าไหมจากเยาวชนรุ่นใหม่ ในโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียน ซึ่งกรมหม่อนไหมจัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา 2 เมษายน 2558 โดยมีการฝึกทักษะการประกอบอาชีพด้านหม่อนไหม ปลูกฝังให้เยาวชนอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมใน 140 โรงเรียนทั่วประเทศ

ร่วมด้วยการแสดงผลงานของผู้ชนะเลิศการแข่งขันสาวไหม การประกวดผ้าไหมไทยตราสัญลักษณ์นกยูงพระราชทาน การออกแบบชุดผ้าไหม ประเภทบุคคลทั่วไปและเยาวชนระดับประเทศ การประกวดผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม ประจำปี 2558 และนิทรรศการการใช้ไหมในชีวิตประจำวัน อาทิ ผลิตภัณฑ์มาสก์หน้าด้วยแผ่น ใยไหม การแสดงชุดผ้าไหมซับกาวและไม่ซับกาว ชมและเลือกซื้อผ้าไหมและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมจากผู้ประกอบการทั่วประเทศกว่า 200 ร้านค้า

งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย เป็นกิจกรรมสำคัญที่กรมหม่อนไหมได้จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาการจัดงานได้รับความสนใจจากประชาชน เยาวชน บุคคลรวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และวันแม่ปีนี้ใคร ที่กำลังมองหาของขวัญสุดพิเศษสำหรับ "แม่" ลองแวะมาเลือกชมเลือกซื้อผ้าไหม ผลิตภัณฑ์จากไหม ได้ภายในงาน รับรองได้ของขวัญถูกใจทั้งผู้รับ และผู้ให้แน่นอน