นับเป็นความโชคดีของประเทศไทยและคนไทยที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงอนุรักษ์และสนับสนุนการแสดงโขน ตลอดจนมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการจัดแสดงโขนพระราชทานมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นแรงบันดาลใจที่เหล่าศิลปินทุกแขนงหลอมรวมใจสร้างสรรค์ศาสตร์และศิลป์ จนในวันนี้ "โขน" ได้กลับมามีชีวิตชีวา และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับการแสดงแบบประเพณีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย โซนที่ ๒กำเนิดโขน นาฏกรรมคู่แผ่นดิน
โขน มหานาฏกรรมแห่งลัทธิเทวราชา แสดงเรื่องรามเกียรติ์อันเป็นเรื่องราวศักดิ์สิทธิ์ ที่ได้รับอิทธิพลทางวรรณกรรมจากมหากาพย์รามายณะตามคติ ศาสนาพราหมณ์ฮินดู
โขนไทยกำเนิดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแสดงการสรรเสริญพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ อันเป็นเทวราชจุติมาสู่โลก เสมือนเป็นการอวตารของพระนารายณ์เพื่อดับความทุกข์เข็ญ
โขนเป็นมหรสพที่จัดในงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ แต่เดิมเป็นมหรสพหลวงในราชสำนัก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการแสดงโขน คือ กรมมหรสพ ซึ่งในปัจจุบัน คือ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่ในการจัดแสดงโขนหลวง ในงานราชการและเอกชน และมีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มีหน้าที่ในการศึกษา สืบทอด การฝึกหัดโขน และนอกจากนี้ยังมีหน่วยงานสถานศึกษาที่มีความสนใจ จัดการเรียนและการแสดงโขนในบางโอกาส?กว่าจะเป็น "โขนพระราชทาน"
โขน เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่หลอมรวมศิลปะของชาติหลากหลายแขนง นับแต่ วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ วิจิตรศิลป์อันงดงามตามแบบฉบับโบราณ การแสดงโขนเป็นศิลปะคู่แผ่นดินไทยมาหลายร้อยปี ได้เคยจัดแสดงเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจเสมอมา แต่ในระยะหลังค่อยๆ จางหายไปจากความนิยมของคนไทย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชปรารภว่า ทุกวันนี้ประชาชนชาวไทย ไม่ใคร่มีโอกาสได้ชมโขน เนื่องจากการจัดแสดงโขนแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโขน และงานหัตถศิลป์แขนงต่างๆ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ สำหรับใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน โดยทรงกำชับให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ แต่มีความคงทนและสวยงามยิ่งขึ้น?พัสตราภรณ์โขนพระราชทาน
จากพระราชปรารภในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงตระหนักถึงการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงโขน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดสร้างพัสตราภรณ์หรือเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ สำหรับใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน โดยทรงกำชับให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ แต่มีความคงทนและสวยงามยิ่งขึ้น นับเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินและช่างฝีมือแขนงต่างๆ ทุ่มเทแรงกายแรงใจสร้างสรรค์งานศิลป์ รวมทั้งฟื้นฟูเทคนิคต่างๆ แบบโบราณที่เกือบเลือนหายไป นำมาพัฒนาเพื่อให้เหมาะกับการแสดงบนเวทีในปัจจุบันอีกครั้งโซนที่ ๓การศึกษาพัสตราภรณ์โขน
พัสตราภรณ์ หรือเครื่องแต่งกายโขน เป็นงานประณีตศิลป์ประเภทหนึ่งที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาคู่กับศิลปะการแสดง เป็นการสร้างเลียนแบบเครื่องแต่งกายของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ชั้นสูง ที่ทรงแต่งพระองค์ในโอกาสพิเศษ แต่เครื่องแต่งกายโขน มีการปรับปรุงมาตามยุคสมัยให้เหมาะสมกับการแสดง พัสตราภรณ์โขนในอดีต มักจะปักประดับตกแต่งลวดลายด้วยวัสดุมีค่าประเภทดิ้นเงิน ดิ้นทอง เลื่อมเงิน เลื่อมทอง ไหมสี ไหมทอง ทองแล่ง เงินแล่ง แต่ด้วยเหตุที่เป็นของใช้ชั่วคราวมีระยะเวลาการใช้จำกัด เมื่อเกิดสภาพเก่าชำรุดไปตามกาลเวลา จนสูญสลายไปมากต่อมาก
ในปัจจุบันการศึกษาค้นคว้าที่สามารถทำได้ คือ การศึกษาจากภาพถ่ายเก่าเป็นสำคัญ และค้นหาศิลปะวัตถุที่เป็นเครื่องแต่งกาย ละครเก่า ทั้งจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมบัติเอกชน รวมทั้งศึกษาลวดลายและการเทียบเคียงกับงานศิลปกรรมอื่นๆ เช่น งานปักตาลปัตร งานประติมากรรม งานจิตรกรรมโบราณ เป็นต้นถนิมพิมพาภรณ์สำหรับการแสดงโขนพระราชทาน
ถนิมพิมพาภรณ์ เป็นงานประณีตศิลป์เพื่อการสร้างเครื่องประดับตกแต่งการแต่งกายโขน เป็นงานช่างฝีมือโลหะ งานฝังอัญมณี งานกะไหล่ทอง จากการศึกษาค้นคว้าถนิมพิมพาภรณ์ที่เก็บรักษาไว้ในสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พบว่าส่วนใหญ่เป็นของที่รับโอนมาจากกรมมหรสพในสมัยรัชกาลที่ ๖ ถนิมพิมพาภรณ์ ประกอบด้วยของที่ละครหลวงใช้สืบทอดกันมา ในราชสำนักหลายรัชกาล สร้างจากวัสดุโลหะหลายชนิด เช่น ตะกั่ว ทองแดง ทองเหลือง เงิน และทองคำที่มีความงดงามยิ่ง อีกทั้งมีขนาดที่ต่างกัน บางชิ้นเชื่อว่าน่าจะเป็นของละครหลวงยุครัชกาลที่ ๔ และ รัชกาลที่ ๕ ที่ตกทอดกันมา และศึกษาถึงเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ที่เป็นเครื่องต้นเครื่องทรงและเครื่องประดับในพระราชพิธีโสกัณ ที่มีความงดงามในเชิงช่างงานหลวงการศึกษาศิราภรณ์โขน
ศิราภรณ์ หมายถึง เครื่องประดับศีรษะ เป็นงานศิลปะที่รวมงานประติมากรรมและจิตรกรรมเข้าด้วยกัน ความงดงามของศิราภรณ์ขึ้นอยู่กับการออกแบบ การปั้นหน้าโขนให้ถูกสัดส่วน การให้สี การเขียนลวดลายที่ถูกต้องตามลักษณะ และพงศ์ของตัวแสดงในเรื่องรามเกียรติ์
คณะทำงานได้ศึกษางานศิลปกรรม หัวโขน ชฎา มงกุฎโบราณ ที่ปรากฏในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อันมีงานหัวโขนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงยุคกรมมหรสพ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น หัวโขนสกุลวังหน้า ฝีพระหัตถ์กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร หัวโขนและศิราภรณ์ของคณะละครเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง หัวโขนช่างสิบหมู่ในรัชกาลที่ ๕-๖ และงานศิลปกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยศิลปะการแสดง ได้แก่ หุ่นหลวง และหุ่นวังหน้า
จากการศึกษาดังกล่าวได้นำลักษณะโครงสร้าง ลวดลาย จากงานศิราภรณ์ และหัวโขนโบราณมาสร้างขึ้นใหม่ให้มีความ งดงาม ถูกต้องตามแบบงานศิลปะไทยทุกประการโซนที่ ๔ห้องฉายภาพยนตร์
จัดแสดงเบื้องหลังการสร้างสรรค์งานศิลป์ด้านต่างๆเกี่ยวกับโขน และไฮไลท์การแสดงโขน ในตอนต่างๆโซนที่ ๕งานหัวโขนและศิราภรณ์
หัวโขน เป็นเครื่องประดับสวมหัว ที่รวมเอาทั้งหน้ากากและศิราภรณ์ประกอบกันเป็นส่วนใหญ่จะใช้ในการแสดงโขน หัวโขนของไทยเป็นศิลปะที่ช่างฝีมือสรรค์สร้างด้วยความวิจิตรบรรจง เลียนแบบพระมหามงกุฎ พระชฎาและพระศิราภรณ์อื่นๆ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ แต่ก็ได้หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจถูกมองว่าเป็น “การทำเทียมเจ้า” ด้วยการใช้วัสดุที่มีค่าน้อย น้ำหนักเบา เช่น ใช้กระดาษเป็นโครงประดับลายด้วยการกระแหนะรักแล้วปิดทองประดับกระจก มิได้ประดิษฐ์ด้วยวัสดุมีค่า เช่น ทอง เพชรพลอย เหมือนเครื่องทรง โซนที่ ๖การออกแบบเทคนิคประกอบฉาก
การแสดงโขนพระราชทาน ใช้แนวทางการดำเนินเรื่องตามบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และบทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยจะจัดแสดงตามรูปแบบโขนโบราณแต่สเน่ห์ของโขนพระราชทานทุกตอนนั้น ได้เพิ่มความพิเศษอันกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโขนพระราชทาน นั่นคือ เทคนิคฉากและเวทีสมัยใหม่ เช่น การใช้เวทีหมุน (turn table) การชักรอกตัวแสดงในฉากเหาะเหินเดินอากาศ หรือหุ่นขนาดใหญ่ของหนุมานเมื่อจำแลงกาย ฉากหยุดรถพระอาทิตย์ ตลอดจนเทคนิคการเปลี่ยนฉากฉับไว ซึ่งล้วนแล้วแต่ผ่านการระดมสมองของช่างเทคนิคผู้มีความชำนาญ ออกแบบสรรค์สร้างภาพจินตนาการให้ปรากฏแก่สายตาผู้ชมได้อย่างสมจริง โดยผสมผสานเทคนิคสมัยใหม่กับการแสดงแบบโบราณอย่างไว้อย่างลงตัว โซนที่ ๗เทคนิคการแต่งหน้าสำหรับโขนพระราชทาน
การแสดงโขนแต่โบราณ ตัวละครทุกตัวต้องสวมใส่หัวโขน ต่อมาตัวละครมนุษย์ผู้ชายและเทวดาหรือแม้แต่เหล่านางยักษ์ไม่นิยมสวมหัวโขน ใช้วิธีเขียนและแต่งหน้าให้เป็นไปตามลักษณะของตัวละคร ด้วยอิทธิพลการแต่งหน้าและแฟชั่นสมัยใหม่ทำให้การแต่งหน้าในการแสดงโขนไม่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมุ่งมั่นที่จะทำนุบำรุงการแสดงโขน ให้กลับคืนสู่ความนิยมอีกครั้ง จึงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาค้นคว้า วิธีการแต่งหน้าสำหรับตัวละครโขนที่เปิดหน้าด้วยศิลปะการแต่งหน้าสมัยใหม่ และมีพระราชวิจารณ์แก่การแต่งหน้าโขนที่แสดงถวายอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นแบบฉบับการแต่งหน้าโขนในรัชกาลปัจจุบัน โดยเรียกการแต่งหน้าโขนประเภทนี้ว่า “แนวพระราชนิยม” โดยการแต่งหน้า จะเดินสีหลัก คือ สีขาว สีดำ สีแดง แลดูโดดเด่น และสีรองคือ สีขาว สีครีม สีส้มอ่อน สีเหลืองอ่อน สีน้ำตาลอ่อน และสีน้ำตาลเข้มโซนที่ ๘Interactive
มาร่วมกันค้นหาคำตอบ ของตัวละคร ๑๘ มงกุฎในเรื่องรามเกียรติ์ โดย ให้เลือกตัวละครแล้วนำไปอ่าน บาร์โค้ดผู้ชมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับตัวละครในแต่ละตัว?โซนที่ ๙เรื่องย่อโขนพระราชทาน การสืบสานงานโขนสู่คนรุ่นใหม่
คณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขน ประสงค์จะเปิดโอกาสให้นักแสดงรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงโขนพระราชทาน จึงเปิดรับเยาวชนให้สมัครและรับการคัดเลือกเป็นนักแสดง (Audition) พร้อมทั้งสนับสนุนให้ทุนการศึกษาด้านนาฏศิลป์ไทย เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ในการสืบทอดและเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยให้คงอยู่ต่อไป โดยพิจารณาคัดเลือกนักแสดงรุ่นใหม่ ๔ กลุ่ม คือ
ตัวพระ คัดเลือกผู้มีลักษณะ คือ รูปหน้าสวย จมูกสัน ลำคอโปร่งระหง ช่วงแขนและช่วงขาสมส่วน รวมความว่า พวกพระนั้นคัดเลือกจากผู้ที่มีทรวดทรงสัณฐานงามสมส่วน ใบหน้ารูปไข หน้าตาคมคายท่าทางสะโอดสะองผึ่งผาย ตามแบบของชายงามในวรรณคดีไทยด้วยการคัดเลือกนักแสดงโขนพระราชทาน ได้คัดเลือกจากผู้ที่มีพื้นฐานการฝึกหัดโขนเบื้องต้นอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่จะเริ่มฝึกหัดโขนตั้งแต่ยังเล็กอายุราว ๘ - ๑๒ ปี เมื่อครู คัดเลือกนักแสดงตามลักษณะตัวละครจนครบแล้วจะเริ่มฝึกซ้อมก่อนการแสดงจริงราวสองเดือน เมื่อถึงวันพฤหัสบดีซึ่งนับถือกันว่าเป็นวันครู จะมีพิธีมอบตัวให้ครู ศิษย์จะต้องมีดอกไม้ธูปเทียนเป็นเครื่องสักการะ แล้วพร้อมกันเข้าไปเคารพครูผู้ใหญ่ จากนั้นจึงเริ่มฝึกซ้อมการแสดง โซนที่ ๑๐Photo gallery and master pieceจัดแสดงภาพถ่าย และ ราชรถที่ใช้ในการแสดง
นิทรรศการ “ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์” ชุด “โขนพระราชทาน”
ณ บริเวณโถงอเนกประสงค์ ๑ อาคารนิทรรศน์รัตน์โกสินทร์ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
๑๐๐ ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ +๖๖(๐)๒ ๖๒๑ ๐๐๔๔ โทรสาร +๖๖(๐)๒ ๖๒๑ ๐๐๔๓ e-mail: [email protected] www.facebook.com/Nitasrattanakosin
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit