แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัทต่อไป ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มจำนวนและความหลากหลายให้แก่ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารได้โดยที่ยังคงรักษาสถานะทางการเงินให้อยู่ได้ในระดับปัจจุบัน ในทางตรงข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทหดตัวลงเป็นเวลานาน หรือบริษัทมีการลงทุนที่มีการก่อหนี้จำนวนมาก
บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซาก่อตั้งโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ในปี 2523 โดยปัจจุบันตระกูลจิราธิวัฒน์ถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 63% บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารในประเทศไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 บริษัทบริหารโรงแรม 41 แห่ง รวมจำนวนห้องพักทั้งสิ้น 7,805 ห้อง โดยโรงแรมทั้งหมดตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยและในต่างประเทศ 4 ประเทศ ได้แก่ มัลดีฟส์ เวียดนาม ศรีลังกา และอินโดนีเซีย บริษัทบริหารงานโรงแรมภายใต้แบรนด์
“เซ็นทารา แกรนด์” “เซ็นทารา” และ “เซ็นทรา” และมีโรงแรมของตนเองทั้งสิ้น 15 แห่ง โดย 1 แห่งอยู่ภายใต้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ โรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของโดยตรงคิดเป็นสัดส่วน 49% ของจำนวนห้องทั้งหมด
บริษัทดำเนินธุรกิจอาหารบริการด่วนภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด โดยปัจจุบัน บริษัทเซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป ให้บริการอาหารบริการด่วนจำนวน 12 แบรนด์ซึ่งประกอบด้วยร้านอาหารภายใต้แฟรนไชส์จากต่างประเทศจำนวน 10 แบรนด์และแบรนด์ของบริษัทเองจำนวน 2 แบรนด์ คือ “ริว ชาบู ชาบู” และ “เดอะ เทอเรส” โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีจำนวนสาขาร้านอาหารรวมทั้งหมด 777 แห่งทั่วประเทศ
โดยปกติแล้วบริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจอาหารในสัดส่วนที่มากกว่าจากธุรกิจโรงแรม อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมก็สร้างอัตรากำไรและกระแสเงินสดได้มากกว่าธุรกิจอาหาร ผลประกอบการของธุรกิจโรงแรมมีความผันผวนมากกว่าเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ ในปี 2557 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงแรมคิดเป็นสัดส่วน 45% ของรายได้รวมทั้งหมด ในขณะที่บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากโรงแรมคิดเป็นสัดส่วน 75% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวมทั้งหมด
ในปี 2557 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 7% อยู่ที่ 24.78 ล้านคน อย่างไรก็ตาม หลังจากความขัดแย้งทางการเมืองยุติลง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 และ 25% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2558 จากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและความต้องการเดินทางท่องเที่ยวอย่างมากภายในภูมิภาคเอเชีย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้น 97% สู่ระดับ 3.30 ล้านคนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2558 ในขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวชาวยุโรปกลับปรับตัวลดลง 15% สู่ระดับ 2.55 ล้านคนเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ แนวโน้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยยังอยู่ในระดับดีจากการมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าดึงดูดใจและมีคุณภาพสูง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยท้าทายอีกมากมายที่อาจจำกัดการเติบโตของการท่องเที่ยวไทย เช่น การชะลอตัวเป็นเวลานานของภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการที่จะถนอมรักษาและคงสภาพทรัพยากรทางธรรมชาติให้น่าดึงดูดใจอย่างยั่งยืน
ในปี 2557 แม้ว่าอัตราการเข้าพักโรงแรมของบริษัทจะได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง แต่รายได้ค่าห้องพักเฉลี่ยต่อจำนวนห้องทั้งหมดของบริษัทก็เพิ่มขึ้น 4.2% เนื่องจากราคาห้องพักของโรงแรมใหม่ในหมู่เกาะมัลดีฟส์มีราคาสูง สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 รายได้ค่าห้องพักเฉลี่ยต่อจำนวนห้องทั้งหมดของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสัดส่วน 6.9% สู่ระดับ 4,932 บาทต่อคืนตามการฟื้นตัวของอัตราการเข้าพักโรงแรมที่เพิ่มขึ้นถึง 10% อย่างไรก็ตาม ราคาห้องพักเฉลี่ยของบริษัทกลับปรับตัวลดลง 5.3% สู่ระดับ 5,782 บาทต่อคืนในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 เนื่องจากแขกที่เข้าพักเป็นชาวเอเชียมากขึ้น
ในปี 2557 เนื่องจากโรงแรมของบริษัทในกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง จึงส่งผลทำให้ไม่มีการเติบโตของรายได้จากธุรกิจโรงแรม อย่างไรก็ตาม รายได้รวมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้น 5% สู่ระดับ 17,992 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากรายได้ธุรกิจอาหารที่ปรับขึ้น 9% ตามการเพิ่มจำนวนสาขา ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 11% สู่ระดับ 5,047 ล้านบาทจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจโรงแรม อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงจากระดับ 21.5% ในปี 2556 เป็น 20.7% ในปี 2557 เนื่องจากธุรกิจอาหารได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นและการขาดทุนจากการปิดแบรนด์ร้านอาหาร ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 อัตรากำไรจากการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 29.4% เมื่อเทียบกับระดับ 25.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 จากการปรับตัวที่ดีขึ้นของการดำเนินงานของโรงแรมในกรุงเทพฯ และการควบคุมต้นทุนในธุรกิจอาหาร
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากการชำระหนี้เงินกู้ยืมตามกำหนด โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจากระดับ 55.8% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 สู่ระดับ 48.7% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 ในช่วงปี 2558-2560 บริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างโรงแรมแห่งใหม่และขยายจำนวนร้านอาหาร โดยการลงทุนจะต้องใช้เงินกู้ยืมบางส่วน ดังนั้น คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในระดับไม่เกิน 55%
สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจาก 2,938 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 3,163 ล้านบาทในปี 2557 และอยู่ที่ระดับ 1,379 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 21% ในปี 2556 เป็น 25.2% ในปี 2557 และที่ระดับ 29.2% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 ส่วนอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจากระดับ 5.9 เท่าในปี 2556 เป็น 9.6 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าบริษัทมีภาระในการชำระหนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาทและมีภาระหนี้ระยะสั้นจำนวน 719 ล้านบาท โดยเงินทุนจากการดำเนินงานจะมีเพียงพอสำหรับสภาพคล่องระยะสั้นและจะได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 508 ล้านบาทรวมทั้งวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท
ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6% ต่อปีจากการเพิ่มราคาห้องพักและจากอัตราการเข้าพักโรงแรมตามปกติที่ระดับ 78% นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะขยายจำนวนร้านอาหารเพิ่มเป็น 1,200 ร้านภายในปี 2563 ด้วย โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 21%-22% ส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานจะปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3,500 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทจะสูงกว่าระดับ 20% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับ 6 เท่าบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) (CENTEL)อันดับเครดิตองค์กร: Aอันดับเครดิตตราสารหนี้:CENTEL163A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 ACENTEL163B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 ACENTEL169A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 Aแนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit