กระทรวงวัฒนธรรมตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม

03 Aug 2015
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวในงานแถลงข่าว "การจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน" ที่ หอศิลป์ราชดำเนิน ว่า กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของอาเซียน โดยจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการเรียนรู้ ด้านวัฒนธรรมไทยและอาเซียน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และเสริมสร้างความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของอาเซียน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางด้านวัฒนธรรม ประชาชนของไทยและอาเซียน ในการอนุรักษ์มรดก ทางวัฒนธรรมอาเซียนและการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมการเชื่อมโยงความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมระหว่างประชาชน หน่วยงาน และองค์กรของอาเซียน เพื่อต่อยอดเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม สู่การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในอนาคตรมว.วธ. กล่าวต่อว่า ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างสรรค์การเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกอาเซียน และก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน โดยนำเสนอ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย คล้ายคลึงและโดดเด่น สะท้อนถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมร่วมกัน จากประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาของผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำเสนอเนื้อหาผ่านเทคโนโลยีมัลติมิเดียที่ทันสมัย สร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน ผู้ชมสามารถรับรู้และส่งข้อมูลผ่านโซเซียลมิเดียในวงกว้าง โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 ส่วน เพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 เราอยู่ร่วมกัน เป็นเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ดินแดนอุษาคเนย์ ส่วนที่ 2 ผูกพันหนึ่งเดียว การทำความรู้จักกับประชาคมอาเซียนด้วยมุมมองในมิติเชิงวัฒนธรรม ส่วนที่ 3 เที่ยวไปในอาเซียน สัมผัสประสบการณ์เสมือนอยู่บนถนนแห่งวัฒนธรรมกับการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ส่วนที่ 4 หมุนเวียนเปลี่ยนเรื่องเล่า นิทรรศการวัฒนธรรมอาเซียนจากทุกชาติสมาชิก ส่วนที่ 5 เรียนรู้ในสวน ASEAN บริการสืบค้นข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอาเซียน และส่วนที่ 6 ชวนกันสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ใช้สอยที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะกับรูปแบบกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมของอาเซียน เพื่อรองรับการสร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกัน

ด้านศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัด วธ.) กล่าวถึงรายละเอียดของพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน จะประกอบด้วย หัวข้อเราอยู่ร่วมกัน เป็นห้องจัดแสดงวีดีทัศน์เรื่อง ประกอบด้วยจอโค้ง ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับระบบวิดีโอมัลติมีเดีย แสดงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมแห่งภูมิภาคอาเซียนผ่านการเล่าเรื่องของ "ตากับหลาน" สร้างความรู้และความรู้สึกภาคภูมิใจให้กับผู้มาเยือน รับรองผู้ชมได้รอบละ 20 คน โดยจัดแสดงเป็นรอบภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มผู้ฟัง หัวข้อผูกพันเป็นหนึ่งเดียว เป็นพื้นที่จัดแสดงข้อมูลดิจิตอลผ่านจอแสดงผลขนาดใหญ่ (Video Wall) ควบคุมการแสดงผลที่จอ touch screen แบ่งข้อมูลการจัดแสดงเกี่ยวกับ กำเนิดประชาคมอาเซียน (ASEAN Establishment) นำเสนอภาพประวัติศาสตร์การลงนามเป็นสมาคมประชาชาติแห่งอาเซียน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวในภูมิภาคเพื่อการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืนการลำดับเหตุการณ์สำคัญของประชาคมอาเซียน (ASEAN Timeline) นำเสนอเหตุการณ์สำคัญในภูมิภาค ตั้งแต่ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ จนถึงเหตุการณ์ร่วมสมัยปัจจุบัน โดยเน้นบริบทเหตุการณ์ในทางวัฒนธรรมเป็นหลัก และ ข้อมูลทั่วไปชาติสมาชิกอาเซียน (ASEAN Members) นำเสนอข้อมูลทั่วไปของ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนเพื่อสร้าง พื้นฐานความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ชม โดยเน้นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม อาทิ ที่ตั้ง ประชากร ศาสนา สถาปัตยกรรม ศิลปะ ประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจ หัวข้อเที่ยวไปในอาเซียน เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการถาวรที่จำลองบรรยากาศท้องถนนของอาเซียนเพื่อสร้างการเชื่อมโยงส่วนนิทรรศการต่างๆ เข้าด้วยกัน ผ่านเทคนิค interactive ได้แก่

  • มรดกของเรา (The ASEAN Cultural Collection) โดยเล่าเรื่องราวผ่านวัตถุจัดแสดง ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว สะท้อนแนวคิดที่ว่า "หนึ่งหน่วยวัฒนธรรม ล้วนมีที่มาจากรากเหง้าที่ถูกหล่อหลอมจากประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกันมายาวนาน ผ่านกระบวนการทางศาสตร์และศิลป์ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์และภูมิปัญญาแห่งช่างฝีมือ ศิลปิน นักดนตรี กวี นักประพันธ์ จากรุ่นสู่รุ่น เบื้องหลังความงดงามของศิลปวัฒนธรรมของอาเซียนจึงแฝงไว้ด้วยความหมายและนัยยะแห่งความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจ" อาทิ วรรณกรรม "รามายณะ" เครื่องดนตรี วัฒนธรรมการเล่นว่าว เป็นต้น
  • เข้ามาทักทาย (The ASEAN Windows) นำเสนอวัฒนธรรมการทักทายของชาติสมาชิกด้วยภาพ Animation พร้อมเสียงสนทนาอย่างเป็นกันเองจากเจ้าของภาษาทั้ง 10 ชาติ สะท้อนบริบทคุณลักษณะร่วมของชาวอาเซียนที่มีการทักทายกันฉันญาติมิตร ด้วยความเคารพต่อผู้มีอาวุโสสูงกว่าแสดงถึงมิตรไมตรีสะท้อนผ่านบทสนทนาที่มักสอดแทรกการถามไถ่สารทุกสุกดิบและเรื่องราวทั่วไปในชีวิตประจำวันของกันและกัน
  • อยู่สบายอาเซียน (The ASEAN Ways) นำเสนอวิถีชีวิตร่วมสมัยของผู้คนในประเทศต่างๆ เปิดผ่านประตูระบบ Touch Screen ด้วยแนวคิดที่ว่า "วิธีที่ดีที่สุดในการเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศเพื่อบ้าน คือ การเปิดใจเข้าไปสัมผัสความเป็นอยู่และวิถีชีวิตที่แท้จริง โดยสามารถกระทำผ่านเรื่องราวจากสองข้างทางบนถนนสายสำคัญที่สะท้อนตัวตนของเมืองและอัตลักษณ์ของประเทศเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี"
  • เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย (The ASEAN National Costumes) นำเสนอวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ จากวิถีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยี (Kinect Interactive) ทำให้ผู้ชมสามารถเลือกชุดประจำชาติเพื่อฉายบนจอภาพ พร้อมขยับเขยื้อนอิริยาบถได้เสมือนสวมใส่ชุดนั้นๆ อย่างสมจริง พร้อมทั้งสามารถถ่ายภาพดังกล่าวและถ่ายทอดความประทับใจลงบนโซเชียลมีเดียได้ทันที
  • หลากหลายจานเด่น (The ASEAN Dishes) นำเสนอภาพเทคโนโลยี Augmented Reality Interactive ที่ผู้ชมสามารถนำภาชนะที่ประดับธงชาติต่างๆ ฉายขึ้นบนจอแสดงภาพเสมือนมีอาหารยอดนิยมประจำชาติต่างๆ ปรากฏขึ้นบนภาชนะที่อยู่ในมือเป็นแบบสามมิติ พร้อมทั้งยังให้ความรู้เรื่องวัตถุดิบสำคัญในเมนูเหล่านั้นอีกด้วย

หัวข้อหมุนเวียนเปลี่ยนเรื่องเล่า (The ASEAN Park E-Library) เป็นห้องสมุดอิเลคทรอนิกส์ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน พื้นที่ให้บริการข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอาเซียนในรูปแบบหนังสืออิเลคทรอนิกส์ (E-book) นิตยสารใหม่ (Magazines) ข้อมูลอ้างอิง ข้อมูลภาพ วีดีทัศน์ และสารสนเทศที่น่าสนใจทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ในบรรยากาศสวนสาธารณะที่มีฉากหลังเป็นมรดกโลก แห่งความภาคภูมิในร่วมกันของชาวอาเซียน พร้อมจอภาพขนาดใหญ่รองรับรอบแสดงสารคดีเรื่องราวเด่นๆ จากกระทรวงวัฒนธรรมที่ได้คัดสรรมาเป็นพิเศษ

หัวข้อห้องปฏิบัติการเชิงวัฒนธรรม (The Knowledge Lab) เป็นพื้นที่ใช้สอยที่ได้รับการออกแบบให้คล้ายกับเรือนกระจกโปร่งใส โดยสามารถปรับให้เหมาะกับรูปแบบกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมของอาเซียน บนพื้นฐานแห่งการสร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์อันดีร่วมกันในภูมิภาค

หัวข้อห้องนิทรรศการหมุนเวียน เป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับนิทรรศการวัฒนธรรมอาเซียนจากทุกชาติสมาชิกเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจอันดีระหว่างกัน โดยนำเสนอเรื่อง "ฟ่อนข้าวแห่งอุษาคเนย์" ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากรูปสัญลักษณ์ รวงข้าวสีทองมัดรวมเป็นฟ่อนข้าวของประชาคมอาเซียน สะท้อนให้เห็นความสำคัญของข้าวในฐานะเอกลักษณ์ที่สร้างวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของอาเซียนโยแบ่งเนื้อหานิทรรศการ ออกเป็นหมวดหมู่พร้อมวัตถุจัดแสดง ได้แก่ ข้าวสร้างอาเซียน องค์ความรู้การปลูกข้าวในอาเซียน ความเชื่อผ่านวิถีปฏิบัติ และภูมิปัญญาการแปรรูปข้าว

ทั้งนี้ กิจกรรมต่างๆ ที่กระทรวงวัฒนธรรมได้นำเสนอ จะทำให้ประชาชนทั่วไปได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมในการซึมซับวัฒนธรรมของอาเซียนผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะอัตลักษณ์ประจำชาติอาเซียน หรือวัฒนธรรมร่วม ที่สร้างความตระหนักให้คนไทยหรือชาวต่างชาติมองเห็นความสำคัญของการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนอย่างจริงจัง โดยศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน มีกำหนดเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ณ ชั้น 3 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนิน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 1765