สาเหตุเพราะปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว ประชากรไทยเข้าสู่วัยชรารวดเร็วจนกำลังแรงงานแทบไม่เพิ่ม ค่าจ้างโตเร็วจนแซงผลิตภาพการผลิต ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง หนี้ครัวเรือนที่สูงเกือบ 80% ของจีดีพีจะยังทำให้การบริโภคเพิ่มได้ยากอีกพักใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีปัญหารายอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ที่สูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้เวียดนาม การส่งออกปิโตรเคมีชะลอตัวเพราะลูกค้ารายใหญ่อย่างจีนขยายการผลิตจนกลายมาเป็นผู้ส่งออกเสียเอง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เจอภาวะอุปทานล้นตลาด เป็นต้น
ตัวอย่างที่ชัดเจนของโครงสร้างที่เปลี่ยนไปและทำให้เกิดบริบทใหม่ คือการส่งออกที่ชะลอตัว หลายฝ่ายเชื่อว่าเกิดจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้คิดไปว่าน่าจะเกิดขึ้นชั่วคราว แต่ความจริงการส่งออกมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้วยรูปแบบการค้าโลกก็เปลี่ยนไป ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาโตเท่าเดิมก็จะไม่ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมากเหมือนก่อน นอกจากนี้ยังเจอสภาพการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้าน และปัจจัยเฉพาะของประเทศ เช่น ปัญหาค่าแรง ทำให้ภาคส่งออกที่เคยโต 12% ต่อไปก็จะเหลือไม่ถึง 4% ต่อปีในทศวรรษนี้
สิ่งที่เราควรทำมีอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ หนึ่ง อย่ากระตุ้นด้านอุปสงค์จนเกินไปเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาโตเหมือนเก่า เพราะศักยภาพของเราได้เปลี่ยนไปแล้ว สอง สร้างระบบความคุ้มครองทางสังคมที่เป็นระบบ ครอบคลุม และครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดการเยียวยาแบบไม่มีที่สิ้นสุด และสาม มุ่งสู่ "แม่โขง" ไม่ใช่แค่ AEC
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า "ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่ที่เติบโตเร็วมาก ส่วนไทยเองก็มีบทบาทสำคัญในพื้นที่นี้ เราส่งออกสินค้าไปที่กัมพูชา พม่า ลาว เวียดนาม ด้วยมูลค่ามากใกล้เคียงกับที่ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นแล้ว ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับการสร้างถนน หรือรางรถไฟเชื่อมกัน แต่ที่จริงควรมุ่งส่งเสริมสิ่งที่จะอำนวยความสะดวกให้เกิดการค้าการลงทุนมากขึ้นด้วย เช่น บริการให้คำปรึกษากฎหมายและภาษี ที่สำคัญคือการพัฒนาคนให้มีทักษะต่างๆ ที่จำเป็น"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit