นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราเป็นไปอย่างมีระบบครบวงจร จะดำเนินการในลักษณะบูรณาการการบริหารจัดการสินค้ายางพาราระดับจังหวัดเป็นสำคัญ โดยมอบหมายให้ แต่ละจังหวัดจัดทำรายงานข้อมูลประมาณการสมดุลยางพาราของจังหวัด ฤดูกาลผลิตปี 2558/2559 ข้อมูลรายงานราคายางพาราในจังหวัด ข้อมูลโครงสร้างอุตสาหกรรมยางของจังหวัด และข้อมูลโครงสร้างระบบตลาดยางในจังหวัด ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายยางพาราในระดับจังหวัดของโครงการต่างๆ จะประสานเชื่อมโยงการดำเนินการร่วมกับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี และการบริหารราชการของกระทรวง ในการบริหารจัดการสินค้ายางพาราแต่ละประเภท พร้อมทั้งมีการตรวจสอบการดำเนินงาน และติดตามการประเมินผล
สำหรับสถานการณ์ราคายางพารา (ข้อมูลวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558) น้ำยางสด ราคาตลาดกิโลกรัมละ 36-37 บาท องค์การสวนยาง หรือ อสย. รับซื้อกิโลกรัมละ 40 บาท ส่วนยางก้อนถ้วย ราคาตลาดกิโลกรัมละ 35 บาท อสย. รับซื้อกิโลกรัมละ 37 บาท ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำยางสดในระยะสั้น จะใช้ระบบแบบการกระจายน้ำนมดิบ โดยจัดให้มีศูนย์รวบรวมน้ำยางดิบ ซึ่งมีสหกรณ์ฯ และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย. ดำเนินการจัดหาแหล่งรวบรวมน้ำยางสด และนำไปขายให้โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง นอกจากนี้ จะจัดทำแผนการผลิตและจำหน่ายสินค้ายางพารา ปี 2558/2559 หลังสิ้นสุดฤดูกาลปิดกรีดยางพาราภายใน 2 เดือน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2558
ทั้งนี้ จะรวบรวมปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับสินค้ายางพาราทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้