นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในฐานะประธานคณะทำงานย่อยประสานงานและติตตามผลการบริหารจัดการพัฒนายางทั้งระบบ เผยว่า กระทรวงเกษตรฯ นำโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำนวย ปะติเส ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อช่วยดำเนินงานในด้านการประสานงานและติดตามผลการบริหาร รวมทั้งด้านข้อมูลและการตลาด ซึ่งปัจจุบัน ภายใต้การดำเนินงานแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบของ 16 โครงการ มีความก้าวหน้ามากพอสมควร โดยข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนมกราคม 2558 จากโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม ขณะนี้ มีเกษตรกรสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วในพื้นที่ปลูกยางพาราจำนวน 62 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 105,021 ครัวเรือน คิดเป็นวงเงินสินเชื่อประมาณ 10,485,167,387 บาท ทั้งนี้ ทางรัฐบาล โดย ธ.ก.ส.ได้อนุมัติสินเชื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้วใน 27 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 3,544 ครัวเรือน คิดเป็นวงเงินสินเชื่อประมาณกว่า 331.34 ล้านบาท สำหรับโครงการชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่มีพื้นที่เปิดกรีดยางบนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง โดยรัฐบาลให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในช่วงที่ราคายางตกต่ำไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย อัตราไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการรับรองสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสิ้น 732,038 ครัวเรือน คิดเป็นเงินมูลค่า 7,332,599,250 บาท รวมทั้งโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยางให้แก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง ซึ่งมีสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจยางพาราทั้งสิ้น 723 แห่งทั่วประเทศ โดยตั้งแต่ริเริ่มโครงการ มีสถาบันยื่นขอกู้ตามโครงการฯ จำนวน 510 แห่ง คิดเป็นวงเงิน 5,055.45 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการที่ผ่านมติที่ประชุมของคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ มีสถาบันเกษตรกร ได้รับอนุมัติวงเงินกู้จาก ธ.ก.ส. แล้วจำนวน 241 แห่ง คิดเป็นวงเงิน 3,173.85 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้มีสถาบันฯ 222 แห่งที่ได้ดำเนินการเบิกเงินกู้จริงจาก ธ.ก.ส. รวมเป็นเงิน 2,338.77 ล้านบาท สถาบันฯ ส่วนที่เหลือ ที่ยังไม่เบิกเงินจาก ธ.ก.ส.นั้น เพราะยังชะลอดูสถานการณ์ราคายางพารา เพื่อมิให้เกิดความเสี่ยงต่อสถาบันฯ กรณีจะเบิกเงินกู้เพื่อมารับซื้อและรวบรวมยางพาราในขณะนี้
นอกจากนี้ สกย. ได้เร่งดำเนินการให้ตลาดยาง สกย. จำนวน 108 ตลาดที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ สมัครเป็นสมาชิกตลาดเครือข่ายตลาดกลางยางพาราทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ หนองคาย บุรีรัมย์ ยะลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางที่อยู่ห่างไกลจากตลาดกลางยางพารา สามารถนำยางเข้ามาขายที่ตลาดยาง สกย.ได้ตามโครงการที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ จะช่วยลดต้นทุนในการเดินทางไปจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรเอง พร้อมทั้ง เป็นการส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และสร้างความเข้มแข็งในการต่อรองสร้างอำนาจซื้อขายให้แก่เกษตรกรรายย่อยเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในการดำเนินการของตลาดยาง ทาง สกย.จะทำหน้าที่รับคัดคุณภาพ ส่งปริมาณน้ำหนักให้ตลาดกลางยางพาราเป็นผู้ประมูล ซึ่งราคาที่เกษตรกรชาวสวนยางได้รับจะเท่ากับราคาที่ประมูลได้ ณ ตลาดกลางยางพารา