จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในแนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัล”
ในงานสัมมนา Capital Market Research forum 1/2558 ศ.ดร. สิทธิชัย โภไคยอุดม รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ และคุณอริยะ พนมยงค์ ได้เปิดมุมมองในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยโดยให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะโลกเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้นด้วยเครือข่ายการสื่อสาร ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจดิจิทัลมีรูปแบบที่เป็นรูปธรรมและมีความหมายครอบคลุมแนวคิดเศรษฐกิจที่อาศัยองค์ความรู้ (Knowledge economy) และแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy) หากไม่มีเครือข่ายการสื่อสาร องค์ความรู้ก็ไม่อาจแพร่ขยายไปได้ในวงกว้าง หรือการสร้างนวัตกรรมอาจเกิดขึ้นได้ยากเมื่อไม่มีเทคโนโลยีสนับสนุน ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีส่วนที่เป็นเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่มากแต่ยังไม่เป็นระบบหรือมีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด การประกันความปลอดภัยในการใช้ระบบเครือข่ายยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้การเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายการสื่อสารในประเทศไทยยังขาดประสิทธิภาพ
ปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จของเศรษฐกิจดิจิทัลมี 3 ประการได้แก่ ประการที่ 1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในด้านของ wireline มีเป้าหมายที่สำคัญ เช่น ขยายโครงข่าย fiber optic ให้ถึงทุกครัวเรือนภายใน 3 ปี ในอนาคตค่าใช้ internet ของไทยจะต่ำที่สุดในอาเซียน ในด้าน wireless จะจัดให้มีการประมูลระบบ 4G ภายในระยะเวลาอันใกล้ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคอาเซียน ประการที่ 2 การปรับปรุงกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากลเพื่อปกป้องสิทธิ และป้องกันการกระทำผิดจากการใช้ระบบเครือข่ายการสื่อสารในประเทศไทย โดยกฎหมายที่สำคัญคือการตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งมีใจความสำคัญที่ระบุว่าหากมติใดๆ ของคณะกรรมการฯ เกี่ยวข้องกับกระทรวงใด ถ้ากระทรวงนั้นละเลยไม่ตอบสนองในเวลาที่กำหนด จะมีบทลงโทษสำหรับรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงตามที่ระบุไว้ในมาตรา 157 เพื่อให้สามารถผลักดันการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง ประการที่ 3 การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการสื่อสารทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
หากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยจะได้รับประโยชน์ทุกภาคส่วน ในภาคเกษตรกรรม ปัจจุบันเกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารมากขึ้น หากภาครัฐให้การสนับสนุนการใช้งานเพื่อประโยชน์ในภาคเกษตรกรรม เช่น การสนับสนุนข้อมูลด้านตลาด เทคโนโลยีการเกษตร ภูมิอากาศฯ ผ่านเครือข่ายการสื่อสาร จะสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคเกษตรได้อีกมาก นอกจากนี้ในด้านการศึกษา เครือข่ายการสื่อสารจะช่วยให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเดียวกันได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านระยะทาง ด้านธุรกิจการค้าจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากเครือข่ายการสื่อสารที่เชื่อมโยงสินค้าและบริการของไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ไปสู่ตลาดโลกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เครือข่ายการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะสนับสนุนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และการพัฒนานวัตกรรมโดยการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมจะเกิดได้ง่ายขึ้นด้วยการเชื่อมโยงผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ากับผู้ที่มีเงินทุนพร้อมให้การสนับสนุนในรูปแบบของ venture capital
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยแนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุดยังต้องประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 3 ประการได้แก่ ประการที่ 1 การปลูกฝังวิธีคิด (mind set) ใหม่ให้กับคนไทยให้กล้าคิด กล้าทำ และตระหนักถึงประโยชน์จากระบบเครือข่ายการสื่อสารว่าเป็นเครื่องมือที่จะนำองค์ความรู้มาเพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจ ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และประเทศชาติ นอกเหนือไปจากการใช้ระบบเครือข่ายการสื่อสารเพียงเพื่อความบันเทิง ประการที่ 2 การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ถูกจำกัดด้วยการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล และประการสุดท้าย สร้างค่านิยมของการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และแบ่งปัน ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยเพื่อให้เกิดการขยายตัวขององค์ความรู้ ความคิดเห็น ซึ่งต้องประกอบด้วยการรู้จักยอมรับความเห็นที่แตกต่างของคนอื่นด้วย เศรษฐกิจไทยจึงจะเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน