ชาวสวนยางยะลาปลื้ม ได้ผลผลิตยางเพิ่มจากการใช้สารเคมีเร่งน้ำยางในสวนยางแก่ สกย.จ.ยะลา เร่งกระจายความรู้ ผ่านแปลงสาธิต เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ 4 อำเภอ

18 Feb 2015
นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดยะลา เผยว่า การให้การสงเคราะห์กับเกษตรกรในกระบวนการสงเคราะห์ระยะก่อนโค่นยาง สกย. ได้จัดอบรมเกษตรกรหลักสูตรลดต้นทุนการผลิต เรื่องการใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง ให้กับเจ้าของที่มีสวนยางแก่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการโค่นยาง เพื่อปลูกแทนรอบใหม่ก่อนฤดูปิดกรีดที่จะถึงนี้ โดยปีงบประมาณ 2558 สกย.จ.ยะลา ได้จัดอบรมหลักสูตรดังกล่าว จำนวน 4 รุ่น ๆ ละ 60 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 240 คน เพื่อเร่งกระจายความรู้สู่เกษตรกรให้ครอบคลุมพื้นที่แทบทุกอำเภอของ จ.ยะลา ให้ได้มากที่สุด ได้แก่ อ.เมืองยะลา อ.ยะหา อ.รามัน และ อ.บันนังสตา เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่มีสวนยางแก่ และอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ทำให้สามารถเก็บผลผลิตได้ปริมาณเพิ่มขึ้นต่อครั้งได้อย่างคุ้มค่า พร้อมทั้ง ได้จัดทำแปลงสาธิต จำนวน 4 แปลงๆ ละ 1 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม โดยมีวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถให้การถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง ควบคู่กับการสาธิตการติดตั้งอุปกรณ์ในสวนยาง ซึ่งผลจากการทำแปลงสาธิต เกษตรกรได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้น ประมาณ 2-3 เท่า เป็นที่พอใจของเกษตรกรเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ วิทยากรได้เน้นย้ำว่า“ การใช้สารเคมีเร่งน้ำยางอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและคำแนะนำจะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นยาง สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งในท่ามกลางปัญหาราคายางตกต่ำ หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าในภาวะราคายางตกต่ำ การลงทุนไปจะได้ไม่คุ้มกับผลที่ได้รับจึงไม่กล้าลงทุน แต่ในทางกลับกันยิ่งราคายางตกต่ำ ควรจะมีการนำสารเคมีมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับต้นยางซึ่งสามารถเพิ่มรายได้ให้กับตนเองได้”

ด้านนายดอเลาะ เสะเง เกษตรกรสวนยางเจ้าของแปลงสาธิตได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ลงติดตามผล ว่า “ปกติ กว่าจะได้น้ำยางเต็มถ้วยจะต้องใช้เวลาถึง 5 วัน แต่เมื่อมีการใช้สารเคมีเร่งน้ำยางในส่วนของการติดตั้งแก๊ส ติดเพียงครั้งเดียวก็ได้น้ำยางเต็มถ้วย สร้างความพอใจให้กับตนเองและผู้ที่สนใจเป็นอย่างมาก เคยได้ยินมานานแล้วสำหรับการใช้แก๊สแอทธิลีนเพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำยาง แต่ไม่เคยคิดจะใช้เพราะกลัวต้นยางตายบ้าง ยางหน้าแห้งบ้าง ขายไม้ไม่ได้บ้าง แต่จากที่ได้รับการถ่ายทอดจากวิทยากรก็ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น จึงอาสาจัดทำแปลงสาธิตใน ส่วนของตนเอง”

การใช้สารเคมีเร่งน้ำยางเป็นทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตน้ำยางให้กับเกษตรกรในช่วงราคายางตกต่ำ ดังนั้น เกษตรกรจะต้องใช้ตามคำแนะนำทางวิชาการอย่างเคร่งครัดและเน้นย้ำว่ายางที่ใช้ควรมีอายุเกิน 15 ปีขึ้นไปและมีความอุดมสมบูรณ์ดี หรือสวนยางที่กำลังอยู่ในระยะโค่น เพื่อปลูกแทนใหม่ จึงจะเหมาะสมสามารถเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรได้ตามที่ต้องการ