เหตุที่ทำให้ ส้มบางมด คลายชื่อเสียงลง ไม่ใช่เพราะไม่มีผู้บริโภคแต่เหตุผลที่แท้จริงนั้นคือ แหล่งเพาะปลูกส้มบางมด ประสบปัญหาน้ำท่วมหนักหลายต่อหลายครั้งทำให้ต้นส้มถูกน้ำท่วมเป็นเวลานาน เกิดความเสียหาย รากเน่าจนล้มตายในที่สุด เกษตรกรชาวสวนส้มบางมดขาดทุนประสบภาวะล้มละลายหลายคนต้องตัดใจขายที่ ละทิ้งถิ่นฐาน ย้ายออกไปทำกินยังพื้นที่อื่นกันเป็นจำนวนมาก จนแทบไม่เหลือสวนส้มให้เห็นอีก ประกอบกับความเจริญของเมืองเข้ามาทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นสวนส้มที่ถูกทิ้งร้าง กลายเป็นบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และโรงงานต่างๆ
แต่ก็ใช่ว่า จะไม่หลงเหลือชาวสวนส้มบางมดแท้ๆ ที่ยังมีใจรักและมีความผูกพันต่อสวนส้มบางมด ณ วันนี้ ยังมีเกษตรกรชาวสวนส้มบางมดบางราย ที่ได้หวนกลับมาพลิกฟื้นพื้นดินให้สวนส้มบางมดยังคงมีต่อไป ที่ทำให้ผู้บริโภคยังได้มีส้มบางมดแท้รสชาติอร่อยๆ ได้กินกันเพราะส้มบางมดที่หวานอร่อยต้องมาจากที่บางมดเท่านั้น
นายสมทบ พรหมมาศ หรือ ลุงมวล เจ้าของสวนส้มอมร เล่าว่า ทำสวนส้มบางมดมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ แต่พอประสบปัญหาน้ำเค็มเมื่อปี 2534 ก็เลิกไปสักพัก เพิ่งกลับมาใหม่ไม่นาน โดยเริ่มจากปลูกกล้วยไม้ก่อนเพราะขณะนั้นกล้วยไม้มีราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาดส่งออก และกลับมาลองปลูกส้มบางมดรวมกับพืชอื่นๆ อีกครั้งเมื่อปี 2552 โดยแบ่งพื้นที่ 7 ไร่ สำหรับปลูกเป็นสวนเกษตรผสมผสม ซึ่งก็มีทั้งมะนาว กล้วย และส้มบางมด ที่เหลืออีก 5 ไร่ ยังคงปลูกกล้วยไม้แม้จะมีต้นทุนสูงแต่ก็มีบริษัทส่งออกมารับซื้อถึงที่ ส่วนสาเหตุที่กลับมาทำสวนส้มบางมดก็เพราะใจรักจึงอยากให้ส้มบางมดกลับมาอีกครั้ง
แม้จะมีประสบการณ์ในการปลูกส้มบางมดมาก่อน แต่อุปสรรคปัญหาในการปลูกส้มบางมดก็ไม่ต่างจากเมื่ออดีตมากนัก ลุงมวล บอกว่า “เดี๋ยวนี้ปลูกส้มต้องใช้ต้นทุนสูง กิ่งพันธุ์ต้องไปซื้อจากบางกอกน้อย เพราะที่นั่นเขาจะตอนกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานขายอย่างเดียว เราซื้อมาปลูกตอนนั้น กิ่งละ 30-40 บาท แต่ตอนนี้ราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นกิ่งละ 50 -100 บาท และต้นส้มที่ปลูกแล้วก็ต้องคอยดูแล คอยฉีดยา รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ตัดหญ้า ส้มต้นหนึ่งกว่าจะออกผลผลิตให้เก็บได้ต้องรอนานถึง 3 ปี ซึ่งที่สวนอมรจะเก็บปีละ 4 รุ่น พร้อมแนะว่าถ้าต้องการส้มพิเศษที่มีรสชาติดีที่สุดต้องส้มเดือน 12 หรือ ส้มปี จะได้ส้มที่หวานอร่อยมากๆ ส่วนช่วงที่ขายได้ราคาดีคือช่วงเทศกาลสำคัญๆของคนจีน เช่น ตรุษจีน สารทจีน ฯลฯ ลุงมวล บอกอีกว่า นอกจากกิ่งพันธุ์แล้ว ยังมีค่าปุ๋ย ค่ายา ซึ่งแต่ละเดือนชาวสวนส้มต้องซื้อปุ๋ยและยามาฉีดพ่นเพื่อไล่แมลงศัตรูพืช อาทิ เพลี้ยไฟ ไรแดง หนอน แต่ที่ดื้อยามากที่สุดคือเพลียไฟ ยิ่งต้องใช้ยาฉีดพ่นมากขึ้น ค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงถึงกว่า 20,000 บาท ซึ่งตนเองก็ต้องการหาวิธีอื่นแต่ก็ไม่รู้ว่าต้องใช้อะไรแทนเพื่อลดต้นทุน เพราะก็รู้ว่าการใช้ปุ๋ยและยาเคมีมากๆ อาจทำให้ดินมีปัญหาแต่ก็ไม่รู้ว่ามีปัญหาอะไรและต้องแก้ไขอย่างไรเพราะที่ผ่านมาถามใครก็ไม่มีใครให้คำแนะนำได้ แต่ปัญหาหนักที่สุด คือ เรื่องน้ำ เพราะส้มต้องอาศัยน้ำ พอหน้าแล้งน้ำจืดในท้องร่องเหลือน้อยไม่พอรด และยังต้องประสบกับปัญหาถูกน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่สวนส้ม ทุกวันนี้ต้องลุ้นว่า น้ำเค็มหรือเปล่า เพราะถ้าเจอน้ำเน่า น้ำเสีย ยังพอใช้รดได้ แต่ถ้าเจอน้ำเค็ม ส้มตายหมด !!
ลุงมวล กล่าวว่า หลังจากที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เข้ามาสำรวจและสอบถามถึงปัญหาจึงได้ขอเข้ารับคำปรึกษาแนะนำและความช่วยเหลือจากมจธ.โดยเฉพาะองค์ความรู้ทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในเรื่องของวิธีการแก้ปัญหาดินเป็นกรด การแนะนำให้ใช้พืชสมุนไพรและการทำสารชีวพันธุ์เพื่อใช้ในการจัดการกับแมลงศัตรูพืชแทนการใช้ปุ๋ยและยาที่เป็นสารเคมีราคาแพง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงได้จาก 20,000 บาทต่อเดือนเหลือ 5,000 บาทต่อเดือน และสอนวิธีการตอนกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวาน ปัจจุบันเราไม่ต้องไปซื้อกิ่งพันธุ์จากบางกอกน้อย สามารถตอนกิ่งพันธุ์ได้เอง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำสวนส้มลงแล้ว ยังสามารถผลิตขายเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้บ้างในช่วงที่ชาวสวนส้มบางมดกำลังประสบปัญหาเรื่องของผลผลิตที่ในปีนี้อาจได้ผลไม่เต็มที่เพราะยังคงประสบกับปัญหาน้ำเค็มสะสมมาเป็นเวลานาน ยิ่งหลังหน้าฝนชาวสวนส้มจะขาดน้ำจืดใช้รดต้นส้ม ซึ่งจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับการเหลียวแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเปิดปิดประตูระบายน้ำแต่อย่างใด
ส่วนสาเหตุที่ยังไม่เลิกใช้ยาและปุ๋ยเคมี ลุงมวล อธิบายว่า ยังจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยและยาฉีดพ่นบ้าง สลับกับการใช้สารชีวพันธุ์ หรือสารสกัดจากพืชสมุนไพร เพื่อไม่ให้เกิดการดื้อยาเป็นวิธีการปราบศัตรูพืชแบบผสมผสาน ตามคำแนะนำของมหาวิทยาลัย แต่ยังมีสิ่งที่ได้เพิ่มจากการเข้ามาของนักวิชาการ มจธ. นอกจากให้ความรู้ตามหลักวิชาการแล้ว ยังเป็นแรงจูงใจให้เราเริ่มปลูกพืชสมุนไพรในพื้นที่สวน อาทิ แสยก ละหุ่ง สะเดา ขอบชะนาง พริก ข่า ตะไคร้หอม ฯลฯ นอกจากนี้สมุนไพรบางชนิดยังใช้เป็นเครื่องปรุงรสสำหรับทำกับข้าว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะไม่ต้องไปหาซื้อที่ไหน
ด้านนางวาสนา มานิช นักวิจัย สังกัดศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การดำเนินการของมหาวิทยาลัยดังกล่าว เป็นการนำองค์ความรู้เข้าไประสานและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชาวสวนส้มที่ประสบปัญหาใน 5 ส่วนหลักๆ คือ เรื่องดิน น้ำ การจัดการศัตรูพืช พันธุ์พืช และการซ่อมบำรุงเครื่องมือทางการเกษตร ซึ่งในการแก้ปัญหาของชาวนสวนส้มที่ผ่านมา จะเป็นการนำภูมิปัญญาประกอบกับประสบการณ์มาใช้ในการแก้ปัญหา แต่ยังขาดความถูกต้องในทางวิชาการ เราจึงเป็นเพียงผู้นำความรู้เข้าไปช่วยเติมเต็มให้กับเกษตรกร เพื่อนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ต่อไป สำหรับลุงมวลหลังจากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จนครบหลักสูตรแล้ว ลุงมวลสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดส่งต่อให้กับเกษตรกรด้วยกันได้ ปัจจุบันสวนอมรได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรแบบยั่งยืนที่มีเกษตรกรโดยเฉพาะชาวสวนส้มในพื้นที่และละแวกใกล้เคียงเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำการเกษตรซึ่งจะส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรชาวสวนส้มในพื้นที่ให้มีความเข็มแข็งมากขึ้น
แม้อุปสรรคปัญหาของชาวสวนส้มบางมดจะรับความช่วยเหลือจากสถาบันการศึกษาในการถ่ายเทคโนโลยีและองค์ความรู้เข้าไปตอบโจทย์ชาวสวนส้มบางมดจนสามารถแก้ไขปัญหาได้เกือบทุกด้านแล้ว แต่ปัญหาสำคัญที่สุด คือเรื่องน้ำ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ชาวสวนส้มบางมดรอคอยความช่วยเหลือจากกรุงเทพมหานคร ให้เร่งติดตามแก้ไขปัญหาการรุกของน้ำเค็ม ซึ่งชาวสวนส้มบางมดขอเพียงเปิดให้ประตูระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มออกและดูดน้ำจืดกลับเข้าร่องสวนโดยด่วน ..มิเช่นนั้น..อาจต้องปิด“ตำนานส้มบางมด” ไปตลอดกาล!!
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit