วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยประจำโครงการฯ ชี้ว่าร่างกฎหมายดิจิทัลฯ ใหม่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. หลัก 4 ประการ คือ 1) ดึงอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่กลับไปยังหน่วยงานรัฐ โดย กสทช. ต้องนำเสนอแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ให้คณะกรรมการดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับรอง 2) สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐได้ใช้คลื่นความถี่มากขึ้น 3) เปลี่ยนวิธีการให้ใบอนุญาตในกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ประเภทธุรกิจจากการประมูลเป็นการคัดเลือก และ 4) ยุบกองทุน กสทช. และโยกงบประมาณไปยังกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นักวิจัยตั้งข้อสังเกตดังนี้
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเป็นการโยกอำนาจการจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งควรเป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐที่เคยได้รับผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรสื่อสารดังกล่าว กลับไปสู่มือของหน่วยงานรัฐ รวมถึงหากพิจารณาถึงโครงสร้างคณะกรรมการดิจิทัลฯ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจที่ถือเป็นผู้ประกอบการอย่างบริษัท ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม การกำหนดนโยบายและแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่อาจเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของหน่วยงานรัฐเป็นหลักการประมูลเป็นวิธีจัดสรรใบอนุญาตที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ โดยเฉพาะในกิจการโทรคมนาคม หากมีการจัดสรรใบอนุญาตโดยวิธีอื่นที่เปิดให้ กสทช. ใช้ดุลยพินิจมากเกินไป สาธารณะอาจเสียประโยชน์จากรายได้ที่เข้ารัฐ และส่งผลต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เช่น ไม่เป็นธรรมต่อทีวีดิจิทัล 24 ช่องที่ประมูลไปก่อนหน้า การยุบกองทุน กสทช. และโยกงบประมาณไปให้กับกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ อาจก่อปัญหาทั้งในเรื่องความโปร่งใสและเป้าหมายในการใช้งบประมาณ เนื่องจากร่างกฎหมายจัดตั้งกองทุนดิจิทัลฯ ไม่ระบุกลไกถ่วงดุลตรวจสอบการใช้เงินและขาดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน รวมถึงเป้าหมายบางอย่างของกองทุน กสทช. ตามกฎหมายก็หายไป อาจส่งผลให้การสนับสนุนในมิติทางด้านสังคม การสนับสนุนการรวมตัวกันของภาควิชาชีพสื่อ ขาดหายไปนอกจากนั้น นักวิจัยยังศึกษาประสบการณ์ของประเทศสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียพบว่า
กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัลของต่างประเทศดึงการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลาย เปิดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย และใช้งานวิจัยในการผลักดันนโยบาย ซึ่งต่างจากของไทยที่การร่างกฎหมายดิจิทัลฯ นั้นขาดการมีส่วนร่วม กระทั่ง กสทช. ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงและได้รับผลกระทบจากกฎหมายยังไม่มีส่วนร่วมใดๆ ในการให้ความคิดเห็นมีข้อเสนอเชิงรูปธรรมที่ชัดเจนและมีแผนในการลงมือปฏิบัติ ต่างจากของไทยที่กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดิจิทัลฯ ไว้กว้างๆ โดยขาดวิสัยทัศน์และแผนลงมือปฏิบัติที่ชัดเจน
ในแง่ของการทำงานร่วมกับองค์กรกำกับดูแล หน่วยงานรัฐจะทำงานร่วมกับองค์กรกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้นำไปปฏิบัติ นอกจากนั้นในกรณีของสหราชอาณาจักรยังมีการออกกฎหมาย Digital Economy Act เพื่อเพิ่มบทบาทหน้าที่ของ Ofcom ให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ต่างจากของไทยที่โครงสร้างการทำงานใหม่นั้น กสทช. ไม่ได้ทำงานในลักษณะความร่วมมือกับคณะกรรมดิจิทัลฯ แต่เป็นการดึงอำนาจในการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และการใช้งบประมาณของกองทุน กสทช. เท่านั้นเมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ต่างประเทศ วรพจน์เสนอว่า
นโยบายเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัลนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม หน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมายหลายส่วนเกี่ยวพันกับการสนับสนุนเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัลอยู่แล้ว เช่น การจัดสรรคลื่นความถี่ การส่งเสริมบริการทั่วถึงและเท่าเทียม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของประชาชน ฯลฯ ดังนั้น กสทช. ควรจัดทำเป้าหมายเชิงนโยบายที่ชัดเจนในการผลักดันเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัลภายใต้ของเขตอำนาจของตน เช่น การออกนโยบายรักษาความเป็นส่วนตัว หรือจัดทำแผนศึกษาการขยายโครงข่ายบรอดแบนด์ ฯลฯ
คณะกรรมการดิจิทัลฯ ควรเป็นหน่วยงานที่จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับรัฐบาลเป็นหลัก และทำงานร่วมกับองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วเพื่อสร้างและผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัล
รัฐบาลไม่ควรแทรกแซงความเป็นอิสระของ กสทช. โดยเฉพาะเมื่อตนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของ กสทช.แนวโน้มการกำกับดูแลในต่างประเทศเป็นไปในทิศทางที่ปล่อยให้ตลาดทำงานมากขึ้น รัฐบาลควรเน้นส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัล และแทรกแซงก็ต่อเมื่อศึกษาแล้วพบว่าตลาดไม่สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายนั้นได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit