กระทรวงวัฒนธรรมดึงภาคเอกชนปรับเรตติ้งและโซนนิ่งภาพยนตร์และวีดิทัศน์

12 Feb 2015
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ที่โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวเปิดงานประชุมสัมมนาการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. 2551 ว่า ในระยะ 7 ปี ของการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติฯ วธ. หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและวีดิทัศน์ในมิติต่างๆ ทั้งการบูรณาการเพื่อพัฒนานาอย่างเป็นรูปธรรม แต่เนื่องจากสภาพสังคมและเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้เนื้อหาที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติต่างๆ ไม่สอดค้องกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งไม่อำนวยต่อการดำเนินงาน จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ ทบทวนและแก้ไขปรับปรุงพัฒนาให้ทันสมัย ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 100 คน อาทิ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ คณะอนุกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นด้านกฎหมายและด้านวินิจฉัยคำสั่งตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ผู้แทนสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกียวข้อง มาระดมความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อให้เข้าใจปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน นำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจน และตระหนักถึงความสำคัญของการใช้สื่อภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อประชาสัมพันธ์ความเป็นไทย และภาพลักษณ์ในเชิงสร้างสรรค์ของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทสไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมหาศาลในแต่ละปี จนทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเข้าสู่อันดับ 1 ของอาเซียน

ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ได้พิจารณาประเด็นสำคัญต่างๆ ได้แก่ การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง การอุทธรณ์ การจัดระดับความเหมาะสม (Rating) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การจัดสัดส่วนพื้นที่การให้บริการ (Zoning) ร้านเกม และการปรับปรุงกฎหมายในประเด็นร้านคาราโอเกะ โดย วธ. จะนำข้อคิดเห็นและข้อสรุปจากการสัมมนาไปใช้เป็นข้อมูลในการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ปัจจุบันการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ จำเป็นต้องปรับปรุงให้ทันต่อความเป็นไปในปัจจุบัน เช่น คำว่า ดิจิตัล ในแง่ของภาพยนตร์ต้องมีการบรรจุไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ จะต้องรับฟังผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องเคารพในตัวบทกฎหมายด้วย เช่น ร้านคาราโอเกะ มีปัญหามาตลอด ซึ่งจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเกิดความเข้าใจและประกอบอาชีพให้เป็นไปตามข้อกฎหมายอีกด้วย”

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้ให้ความคิดเห็นกรณีร้านเกมว่า ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีการกำกับดูแล คุ้มครอง และบริหารจัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าทำผิดก็จะมีโทษทั้งกรณีเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หรือเข้าไปบริการผิดเวลาเข้าไปใช้บริการ แต่สิ่งที่ดำเนินการไม่ใช่แค่กำกับหรือตรวจสอบ แต่ต้องให้ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการหรือเด็กเยาวชนเหล่านี้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการตรวจตรา และส่งเสริมให้เป็นร้านเกมสีขาว แต่เมื่อมีการร้องเรียน ทางวัฒนธรรมจังหวัดก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ เมื่อพบว่ากระทำผิดทางร้านก็มีสิทธิ์อุทธรณ์ จึงอยากให้ผู้ประกอบการเขียนตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หากไม่มีเจตนากระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เนื่องจากการพิจารณาคำอุทธณ์ก็ต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง