กระทรวงเกษตรฯ ชู “โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง” หวังช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แล้ง 541 อำเภอ ใน 3,051 ตำบลๆ ละไม่เกิน 1 ล้านบาท

10 Feb 2015
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริการโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 ได้อนุมัติ โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการพิจารณากรอบการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ พื้นที่เป้าหมายของโครงการ แนวทางในการบริหารโครงการและการประเมินผล แนวทางปฏิบัติการรับและเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปของโครงการ คู่มือการดำเนินงานโครงการฯ และปฏิทินการปฏิบัติงานของโครงการฯ แผนการขับเคลื่อนโครงการจะเริ่มดำเนินการพิจารณาโครงการในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ จะมีการประชุมเกษตรตำบล เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับคู่มือการดำเนินการโครงการฯ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการฯ ต้องเป็นโครงการที่มุ่งให้เกิดการจ้างแรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ยกเว้นกรณีที่จำเป็นและมีเหตุสมควร แต่จะต้องมีการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการระดับอำเภอแล้ว รวมทั้งให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล(ศบกต.) ในด้านระเบียบวิธีการบริหารจัดการเงิน และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นฝ่ายประเมินผลโครงการร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่อีกด้วย

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งไปแล้ว เช่น การงดปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มเจ้าพระยา-แม่กลอง ส่วนพื้นที่ 541 อำเภอ จำนวน 3,051 ตำบล ที่ได้ผ่านการสำรวจจากกรมพัฒนาที่ดินแล้วว่าเป็นพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก และขาดโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือ สำหรับโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถนำเงินที่ได้รับมาแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งโครงการที่เสนอมาจะต้องเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์แก่ชุมชนในด้านการเกษตร 4 ลักษณะ คือ 1.การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 2.การผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง 3.การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 4.การจัดการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ และเนื่องจากโครงการที่นำเสนอมีหลากหลายจึงต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน นอกจากคณะกรรมการฯ จะต้องพิจารณาเนื้อหาของโครงการแล้ว ยังจะต้องพิจารณาระเบียบวิธีการดำเนินการอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และรวดเร็ว”

ส่วนแนวทางการดำเนินงาน นั้น ให้กลุ่ม/องค์กรเกษตรกรสามารถเสนอกิจกรรมความต้องการของชุมชนผ่านเวทีชุมชน ไปยัง ศบกต.ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนด้านการเกษตรระดับตำบลจะทำหน้าที่เป็นองค์กรตัวแทนของชุมชนในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และเป็นผู้เสนอโครงการต่อคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการระดับอำเภอ ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน จากนั้นจะพิจารณาความเห็นเสนอ ต่อคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เมื่อพิจารณาอนุมัติโครงการแล้ว และเสนอกรอบวงเงินให้คณะกรรมการฯ ระดับกระทรวง เพื่ออนุมัติวงเงิน โอนจัดสรรให้จังหวัดเข้าบัญชี ศบกต. และ ศบกต.จะจัดสรรงบประมาณดำเนินงานเข้าบัญชีเงินฝากกลุ่ม/องค์กรตามแผน ส่วนงบประมาณสำหรับการจ้างงานให้โอนเข้าบัญชีเกษตรกรตามข้อตกลงการจ้างแรงงาน

“เนื่องจากวางกรอบโครงการค่อนข้างกว้าง มีความหลากหลาย และต้องใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควร เนื่องจากมีการสนับสนุนให้ชุมชนเกษตรเป็นผู้กำหนดกิจกรรมการเกษตรที่สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ และเป็นผู้บริหารจัดการโครงการด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดผลสำเร็จอันจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรของชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มส่งโครงการได้ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์–พฤษภาคม สิ้นสุดการพิจารณาโครงการเดือนมิถุนายน สำหรับการอนุมัติโครงการฯ มีกรอบการพิจารณาอนุมัติ ตำบลละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยจะทยอยพิจารณาโครงการฯ ที่ยื่นเสนอก่อนตามลำดับ ระยะเวลาดำเนินการพิจารณาอนุมัติต่อโครงการประมาณ 2 สัปดาห์-1 เดือน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของโครงการ เมื่อผ่านการอนุมัติแล้ว จะมีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารเท่านั้น เพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบว่าเงินถึงมือเกษตรกรจริงๆ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จะเป็นเงินหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจจากการจ้างแรงงานในพื้นที่ทันที ซึ่งครอบคลุมเกษตรกรกว่า 3 ล้านราย ใน 30,000 ครัวเรือน และไม่เป็นโครงการที่ซ้ำซ้อน หรือได้รับการสนับสนุนอยู่แล้ว” นายโอฬาร กล่าว