"อัตลักษณ์แห่งสยาม" ครั้งที่ 6 ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น

10 Feb 2015
"อัตลักษณ์แห่งสยาม" ครั้งที่ 6 ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ไทย – เทศ แห่ร่วมงานนับแสนคน พร้อมอุดหนุนสินค้าหัตถศิลป์ไทยกว่า 20 สิบล้านบาท
"อัตลักษณ์แห่งสยาม" ครั้งที่ 6 ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น

ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นสำหรับงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” ครั้งที่ 6 ที่ได้รับการตอบรับจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าชมผลงานของครูช่างศิลป์และอุดหนุนผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ไทยกว่าแสนคน ตลอดทั้ง 4 วันของการจัดงาน สร้างรายได้กว่า 20 ล้านบาท ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

งาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” ครั้งที่ 6 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15 – 18 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมสืบสานอนุรักษ์นวัตศิลป์ไทยอันเป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล

นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การจัดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 6” ได้กำหนดจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สืบสานมรดกไทย ความภูมิใจของแผ่นดิน” โดยมีไฮไลท์สำคัญ คือการสาธิต และถ่ายทอดประสบการณ์ เทคนิคการผลิตผลงานหัตถศิลป์ของครูช่างศิลป์ทั้ง 7 ท่าน ได้แก่ ครูวีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูช่างชั้นสูงผู้เชี่ยวชาญการทอผ้าไหมยกทอง จ.สุรินทร์, ครูเมตตา เสลานนท์ ครูช่างชั้นสูงผู้เชี่ยวชาญเครื่องลงหิน กรุงเทพฯ, ครูธานินทร์ ชื่นใจ ครูช่างชั้นสูงด้านงานสกุลช่าง ผู้รังสรรค์ตู้พระธรรมลายรดน้ำปิดทอง, ครูนิคม นกอักษร ครูช่างชั้นสูงผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องถม จ.นครศรีธรรมราช, ครูอุไร แตงเอี่ยม ครูช่างชั้นสูงผู้เชี่ยวชาญเครื่องเบญจรงค์, ครูปราโมทย์ เขาเหิน ครูช่างชั้นสูงผู้เชี่ยวชาญเครื่องทองสุโขทัย, ครูวัฒนา แก้วดวงใหญ่ ครูช่างชั้นสูงผู้เชี่ยวชาญการทำหัวโขน ผ่านการจัดแสดง “นิทรรศการครูช่างชั้นสูง” โดยผลงานของครูช่างศิลป์ทั้ง 7 ท่าน ต่างก็เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องทองโบราณของไทย ที่ล้วนแต่มีความประณีต งดงาม ทรงคุณค่า และยังเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ LUX by SACICT ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมงานหัตถกรรมที่ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ผนวกเทคนิคชั้นยอดในการสร้างสรรค์ รวมถึงมีมูลค่าสูง ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ในวงกว้าง พร้อมผลักดันสู่ตลาดโลก

ภายในงานยังมีออกร้านจำหน่ายสินค้าของเครือข่ายสมาชิกของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศกว่า 50 ร้าน ที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยอันทรงคุณค่าจากฝีมือชั้นครู ไม่ว่าจะเป็นงานผ้าทอ ผ้าบาติก งานเครื่องทอง เครื่องเงิน ของแต่งบ้าน เครื่องแต่งกาย ฯลฯ จากครูช่างศิลป์โดยตรง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ร่วมชื่นชมฝีมืออันประณีตของครูช่างศิลป์ไทยและต่างอุดหนุนสินค้าหัตถศิลป์ไทยกันอย่างคึกคัก

ส่งผลให้ตลอดทั้ง 4 วันของการจัดงาน มีผู้เข้าชมงานกันอย่างหนาแน่นนับ 100,000 กว่าราย จากทั้งชาวไทยและต่างชาติ อาทิ จีน, เกาหลี,อังกฤษ,รัสเซีย,สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ก่อให้เกิดรายได้กว่า 20 ล้านบาท ซึ่งผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่ได้รับความสนใจจากเหล่าผู้เข้าชมและอุดหนุนกันเป็นจำนวนมาก ได้แก่ เครื่องทอง, เครื่องถม,ผ้าไหม,เครื่องเงิน,หินมงคล เป็นต้น

ครูปราโมทย์ เขาเหิน ครูช่างชั้นสูงผู้เชี่ยวชาญเครื่องทองสุโขทัย เจ้าของร้านเครื่องทอง “บ้านทองสมสมัย” หนึ่งในร้านที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้มชมงานเป็นจำนวนมาก กล่าวว่า “ดีใจที่ผู้คนยังเห็นถึงคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรม ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรรมของไทย สะท้อนถึงรากเหง้าและภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์และสนับสนุนผลงานศิลปหัตถกรรมของช่างไทยกันให้เยอะๆ เพื่อที่จะได้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนาฝีมือต่อไป” ครูปราโมทย์ กล่าวถือเป็นความภูมิใจของผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมชมงาน ที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมของไทย และได้มีโอกาสสัมผัสถึงผลงานสร้างสรรค์อันวิจิตรบรรจงจากฝีมือครูช่างไทย พร้อมยังเป็นการส่งเสริม สนับสนุน ตลอดจนพัฒนางานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย ให้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย รวมถึงผลักดันให้ผลงานหัตถศิลป์ของไทยก้าวไปสู่ในระดับสากล

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ในครั้งต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายงานการตลาด ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) โทร 02 187 0295, 086 504 6487 และดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.sacict.or.th หรือแฟนเพจ “อัตลักษณ์แห่งสยาม”

HTML::image( HTML::image( HTML::image(
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit