กระทรวงเกษตรฯ เตรียมมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2557/58 ขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง พร้อมจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง เพื่อการอุปโภค-บริโภค และการรักษาระบบนิเวศน์ไว้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง

10 Feb 2015
นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย แถลงข่าวการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ว่า สถานการณ์ภัยแล้ง ในปี 2557/58 ได้มีการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนเมื่อสิ้นฤดูฝนมีน้อย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดปลูกข้าวนาปรัง โดยวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ไว้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง (30 เม.ย. 58) ให้คงเหลือน้ำเมื่อสิ้นฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4,202 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอต่อการสนับสนุนการทำนาปีตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 58 และ คงเหลือน้ำเมื่อสิ้นฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าแม่กลอง 2,616 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอต่อการสนับสนุนการทำนาปีตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 58 ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องและข้าวนาปรังในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวม 3.80 ล้านไร่ ในเขตชลประทานของลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 0.082 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ปลูกข้าวที่ห่างจากคลองสายหลักอาจได้รับความเสียหายบ้าง

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการจัดสรรน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ไว้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง คงเหลือน้ำเมื่อสิ้นฤดูแล้ง 1,575 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จะสนับสนุนการเพาะปลูกพืชจนกระทั่งฝนตกชุกตามฤดูกาล ปัจจุบันมีการปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 0.59 ล้านไร่ และสำหรับการจัดสรรน้ำในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ได้บริหารจัดการน้ำตามความต้องการอย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง คงเหลือน้ำเมื่อสิ้นฤดูแล้ง 350 ล้าน ลบ.ม. จากการรายงาน ณ วันที่ 30 มกราคม 2558 ในช่วงภัยเดือนตุลาคม- ปัจจุบัน มีผลกระทบด้านการเกษตร คือ มีพื้นที่การเกษตรประสบภัย 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ชัยนาท และลพบุรี จำนวน 1.46 ล้านไร่ และสำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 113,358 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,062,331 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 1,011,365 ไร่ พืชไร่ 50,966 ไร่ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 1,184.16 ล้านบาท

นายวิมล กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มีมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2557/58 โดยมีการวิเคราะห์และรายงานสถานการณ์ เพื่อประเมินความรุนแรงของผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งในระดับพื้นที่จังหวัด ลุ่มน้ำ และชุมชน นำมาจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงและการเกษตรกรรม ติดตาม เฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ และรายงานสถานการณ์ โดยมีการเตรียมรับสถานการณ์ แบ่งออกเป็น 1) การชี้แจงเพื่อสร้างความรู้วิธีการปรับตัวและการลดผลกระทบให้แก่ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำและพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งในส่วนกลาง มีศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานกลางในการประสานการดำเนินงานในระดับกระทรวง และในส่วนภูมิภาค มีศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัด ในการรายงานและการให้ความช่วยเหลือ 2) การวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ ควบคู่กับมาตรการการงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง โดยการบริหารจัดการน้ำตามแผนการจัดการน้ำช่วงเดือน มกราคม - เมษายน 2558 3) การพัฒนาปรับปรุงขุดลอกแหล่งน้ำนอกพื้นที่เขตชลประทาน ให้สามารถเก็บกักน้ำได้ 2.3 ล้าน ลบ.ม. 4) แผนเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ 1,900 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 295 คัน ทั้งนี้ ได้ดำเนินการสนับสนุนช่วยเหลือติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 56 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 49 คัน และ 5) เตรียมความพร้อมปฏิบัติการฝนหลวง โดยจะเริ่มปฏิบัติการในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรขณะเกิดภัย โดยจะเร่งรัดการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/58 โดยการจ้างแรงงาน 32,562 คน คิดเป็นร้อยละ 74 การส่งเสริมอาชีพโดยสนับสนุนพันธุ์สัตว์ พันธุ์ปลา เมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ฝึกอบรมอาชีพภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 การขับเคลื่อนการดำเนินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ตำบลละ 1 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภัยแล้งซ้ำซากให้มีรายได้และสร้างโอกาสให้ชุมชนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน จำนวน 3,052 ตำบล ใน 58 จังหวัด และการสนับสนุนเงินทุนให้สหกรณ์กู้ยืมให้แก่สมาชิกที่ประสบภัยแล้ง เพื่อใช้ลงทุนพัฒนาอาชีพที่ได้ผลตอบแทนระยะสั้น โดยไม่คิดดอกเบี้ย วงเงิน 65 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งต่อไป