ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทุกประเทศที่ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น ไทยส่งเข้าสู่กลุ่มประเทศมุสลิมกว่า 57 ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และมุ่งหวังที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำในการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลอันดับ 1 ของโลก ประเทศไทยจึงได้เร่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการพร้อมทั้งสร้างสัญญะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวมุสลิมได้จากทั่วโลก ภายใต้แบรนด์ “Thailand Diamond Halal” หรือ “ฮาลาลไทยฮาลาลเพชร” สำหรับตลาดผลิตภัณฑ์ฮาลาลในกลุ่มประเทศอาเซียนเอง คาดว่าจะเกิดร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลมากขึ้นเมื่อมีการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี 2558 ทั้งเรื่องการรับรองอาหารฮาลาลร่วมกัน การออกกฎระเบียบการค้า และการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตที่เสรีมากขึ้น
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมกับองค์กรพันธมิตร ด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลและองค์กรภาคศาสนาอิสลาม และกลุ่มธุรกิจฮาลาล พร้อมด้วยจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดเชียงใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจน สถาบันอาหารและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัด “งานแสดงสินค้าฮาลาลนานาชาติเชียงใหม่ ครั้งที่ 2“ หรือ Chiang Mai Halal International Fair 2015 (CHIF2015) ระหว่างวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ 2558 ณ เชียงใหม่ฮอลล์เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต โดยได้รับการสนับสนุน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในด้านการกระตุ้นธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวฮาลาลพื้นที่ภาคเหนือและลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน พร้อมยกระดับความเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลโลกของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งหวังที่จะผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือเป็นอีกหนึ่งในศูนย์กลางการกระจายผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลในระดับภูมิภาคเชื่อมโยงสู่ตลาดจีน และอาเซียนต่อไป
ภายใน “งานแสดงสินค้าฮาลาลนานาชาติเชียงใหม่ ครั้งที่ 2” นี้ จะมีการออกบูธแสดงและจำหน่ายสินค้า และบริการจากมุสลิมไทยจากภาคเหนือ และทั่วประเทศ และจากหน่วยงาน/กิจการจากกลุ่มประเทศป ระชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และอ่าวเบงกอล (BIMSTEC) ทั้งอาหาร อาการแปรรูปเครื่องแต่งกาย จำนวนมากว่า 250 คูหา, การจัดแสดงนิทรรศการ “วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในโลกอิสลาม” ที่หาชมได้ยาก จัดขึ้นที่เฮดายาตุลอิสลาม บ้านฮ่อ, การจัดประชุมเชียงใหม่ฮาลาลนานาชาติ, เวทีการจับคู่เจรจาธุรกิจฮาลาล (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการในภาคเหนือกับภาคอื่น ๆ ในประเทศ และจากกลุ่มประเทศเป้าหมายที่มาร่วมงาน, การแสดงศิลปวัฒนธรรมจากหลายชนชาติ ได้แก่ มุสลิมล้านนาลุ่มน้ำโขง ชมการแสดงดิเกรฮูลู กังฟู สป.จีน และร่วมชิมฝีมือการทำอาหารจากเชฟชื่อดัง พร้อมกิจกรรมความสนุกกับเกมส์บนเวทีและของรางวัลมากมาย
และเนื่องจาก จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพหลายด้าน ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถส่งออกไปยังประเทศจีน อินเดีย รัสเซีย อีกทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิอากาศที่เอื้อต่อการผลิตอาหาร และมีผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารฮาลาล ประกอบกับมีข้อได้เปรียบด้านศักยภาพการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการค้าของภาคเหนือ ทั้งมีผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ฮาลาลเป็นจำนวนมาก ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ จึงได้เปิด “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานเชียงใหม่” ขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อรับผิดชอบงานในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบน และงานอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ในการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ฮาลาล ซึ่งจะยิ่งสร้างความพร้อมในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจฮาลาลให้เกิดความเข้มแข็งในภาพรวมได้ และการจัดงานแสดงสินค้าฮาลาลนานาชาติเชียงใหม่ครั้งนี้ นับเป็นโครงการสืบเนื่องที่มีความสำคัญและต่อยอดการดำเนินโครงการในอดีต ที่จะสามารถพัฒนายุทธศาสตร์ฮาลาลของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือในอนาคตอันเป็นโครงการที่สำคัญโครงการในอนาคตได้แก่ Chiang Mai Young Muslim รวมถึงการสนับสนุนให้เกิด “สวนอุตสาหกรรมฮาลาลภาคเหนือ” ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการผลิตแปรรูปอาหารจากภาคเหนือเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในอนาคตอันใกล้ต่อไป ดร.วินัย กล่าวปิดท้าย