สำหรับส่วนแรกในเรื่องของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ปัญหาเรื่องประมง ที่ขณะนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ 3 ประเทศหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ในเรื่องการค้ามนุษย์ ที่ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 ปัญหาการทำประมงไอยูยูของสหภาพยุโรป และการทำการประมงในน่านน้ำอินโดนีเซีย ซึ่งได้มอบหมายให้ทูตเกษตรพยายามทำความเข้าใจกับประเทศนั้นๆ ให้ตรงกันว่าประเด็นปัญหาอยู่ตรงไหนบ้าง เพื่อให้ไทยนำมาแก้ไขให้ตรงจุด รวมถึงชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ที่ไทยกำลังทำอยู่ เช่น กรณีไอยูยู ที่ทางการไทยได้เร่งรัดการจดทะเบียนเรือ การติดตั้งระบบติดตามเรือ การสำรวจและลงพิกัดตำแหน่งท่าเทียบเรือที่เรือประมงไทยนำสัตว์น้ำขึ้นท่า และการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งในภาพรวมขณะนี้พบว่าเป็นไปตามกรอบที่อียูกำหนดแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่ต้องสร้างความเข้าใจที่ตรงกันให้มากขึ้น คือ การตีความตามกฎหมายของพระราชบัญญัติฯ ประมงฉบับใหม่
ประเด็นที่สอง การจัดทำโรดแมปการค้าขายสินค้าเกษตร ซึ่งพบข้อมูลว่าขณะนี้มีหลายประเทศได้มีการปรับนโยบายใหม่ๆ ด้านการเกษตรออกมา เช่น กรณีออสเตรเลีย กำลังปรับเป็นประเทศส่งออกสินค้าและอาหารมากขึ้น หรือญี่ปุ่น ที่เคยมีความสัมพันธ์กับไทยอย่างใกล้ชิดในลักษณะของสหกรณ์ ก็พบว่าจะมีการปรับโครงสร้างของสหกรณ์ใหม่ อาจจะทำให้สหกรณ์ของญี่ปุ่นแต่ละแห่งมีอิสระมากขึ้นกว่าเดิม ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคสหกรณ์ของไทยที่เคยทำการเจรจาซื้อขายกันระหว่างสหกรณ์ของ 2 ประเทศได้ รวมถึงข้อตกลงต่างๆ ที่ไทยเคยเจรจาไว้กับเอฟเอโอ เช่น ข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม หรือร่างแนวคิดในการลงทุนอย่างรับผิดชอบ ซึ่งทูตเกษตรจะต้องติดตามข้อมูลสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด และจัดทำเป็นโรดแมปเป็นรายสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ส่วนสุดท้าย คือ การบริหารจัดการและการเชื่อมโยงการทำงานของทูตเกษตรในต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวงเกษตรฯ เอง โดยเฉพาะในมิติของอาเซียนกับไทย และอาเซียนกับประเทศอื่นๆ ในด้านการลงทุนระหว่างกันทั้งในด้านการผลิต การรับรองคุณภาพ ห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบต่างๆ เป็นต้น.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit