น.ส.สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโรเซล (ประเทศไทย) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์วิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค จากสหรัฐอเมริกา ในเครืออินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เมียนมาร์ประเทศที่กำลังเป็นที่จับตามองจากนานาประเทศทั่วโลก โดดเด่นทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ และโอกาสในการลงทุน รวมถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศพม่าที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนที่ต้องการเข้าไปทำการตลาดในพม่า จึงมีความจำเป็นต้องเข้าใจความต้องการและแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพื่อนำไปช่วยในการวิเคราะห์ตลาดได้อย่างถูกต้อง และแม่นยำมากขึ้น เอ็นไวโรเซล ไทยแลนด์ จึงได้ทำการสำรวจตลาดเมียนมาร์อย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับแนวโน้มค่านิยมของชาวเมียนมาร์ โดยสรุปได้ 8 ประการ ดังนี้
1. เปิดรับ (Open for new thing) หลังจากที่เมียนมาร์ได้เปิดประเทศไปไม่นาน ชาวเมียนมาร์ก็มีโอกาสได้รับสิ่งใหม่ๆ ทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม สินค้าแบรนด์ใหม่ รวมถึงแฟชั่น ทยอยเข้ามาในประเทศขึ้นเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่า ชาวพม่าเปิดรับสิ่งใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันที่ชาวพม่ายอมจ่ายเงิน เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง อาทิ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผ้า น้ำยาล้างภาชนะ น้ำยาทำความสะอาดพื้น เป็นต้น แสดงให้เห็นว่านอกจากชาวเมียนมาร์จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ แล้วยังพร้อมทดลองบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะไม่เคยใช้มาก่อน
2. กล้าลอง (Dare to take challenge) ชาวเมียนมาร์เปลี่ยนความสนใจจากผลิตภัณฑ์แบรนด์เดิมๆ ไปยังสินค้าอุปโภคและบริโภคแบรนด์ใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น โดยอาศัยการตัดสินใจจากสื่อ โฆษณาต่างๆ สูงถึง 48% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป้ายบิลบอร์ด หรือป้ายข้างทาง (คัทเอ้าท์) สามารถสร้างการรับรู้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นชาวเมียนมาร์ยังมีความพร้อมที่จะทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ถึง 25% จึงทำให้แบรนด์สินค้าต่างๆ ที่เริ่มเข้าไปขยายธุรกิจ ได้รับการตอบรับจาผู้บริโภคพม่าเป็นอย่างดี จากแต่ก่อนที่ชาวพม่าจะต้องค้นคว้า หาข้อมูล หรือปรึกษาคนรอบข้างก่อนการตัดสินใจบริโภค แต่ในปัจจุบันนี้ชาวพม่าตัดสินใจทดลองสินค้าใหม่ๆ ด้วยตนเองมากขึ้น
3. ใส่ใจตัวเอง (More beauty conscious) นอกจากเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ และกล้าลองมากขึ้นแล้ว ชาวเมียนมาร์ได้หันมาใส่ใจและดูแลตัวเองมากขึ้นทั้งเพศหญิงและชาย จากเมื่อก่อนที่ไม่สนใจใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวใดๆ นอกจากทานาคา แต่ในปัจจุบันชาวเมียนมาร์ยุคใหม่ เริ่มให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์บำรุงผิว บำรุงความงามอื่นๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดผิวหน้า ครีมกันแดด ครีมนวดผม ครีมบำรุงต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นถึง 20%
4. ทันสมัย (Found to be more modern) จะเห็นได้ว่าชาวเมียนมาร์มีความทันสมัยมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือ จากปี 2556 ที่มีอัตราการใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 72% ในปี 2558 เพิ่มขึ้นสูงถึง 97% และเป็นการก้าวกระโดดจากยุคโทรศัพท์ในสมัยก่อน มาสู่ยุคของสมาร์ทโฟน และให้ความสนใจกับการติดต่อบนโลกออนไลน์อย่างมาก และนอกจากจะใช้คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊คแล้ว ในปัจจุบันนี้แท็บเลตได้เข้ามามีบทบาทต่อการติดต่อสื่อสารกันของชาวเมียนมาร์เช่นกัน รวมถึงมีการเลือกใช้สินค้าสมัยใหม่ ซื้อสินค้าประเภทจอโทรทัศน์ ทั้ง LCD และ LED มากยิ่งขึ้น
5. ติดโซเชียลออนไลน์ (Start addicted to online) จากการก้าวกระโดดสู่ยุคสมาร์ทโฟนและการเติบโตในระบบโทรคมนาคม ทำให้การสื่อสารทางโทรศัพท์ และสื่อดิจิตอลทั้งหลายเข้ามามีบทบาทต่อสังคมประเทศเมียนมาร์เป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่การใช้ Line หรือ Whatsapp เท่านั้น แต่ทว่าแอปพลิเคชั่นอย่าง Viber กลับเป็นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในสังคมโซเชียลของชาวเมียนมาร์ในปัจจุบันนี้อีกด้วย
6. ชีวิตสะดวกสบาย (Readily seek convenient) ชาวเมียนมาร์ เริ่มมีการใช้ใช้อุปกรณ์เพื่อสร้างความสะดวกสบายในชีวิตมากยิ่งขึ้น อาทิ อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ หรือวิธีการใช้ชีวิตการกินอยู่ เพื่อให้ชีวิตง่ายขึ้น มีการใช้ซุปก้อน และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมถึงการคมนาคมที่สะดวกสบายกว่าแต่ก่อน ทำให้ชาวเมียนมาร์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
7. นิยมเดินห้าง (Comes the modern trade area) จากในสมัยก่อน ชาวเมียนมาร์ใช้ชีวิตอยู่ติดบ้าน จับจ่ายซื้อของตามตลาดสด แต่ในปัจจุบันพบว่าชาวพม่ามีการจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้ามากยิ่งขึ้น สูงถึง 44% เนื่องจากมีความสะดวกสบายกว่า
8. มีกิจกรรมนอกบ้านหลากหลาย (Broader life activities) วิถีชีวิตของชาวเมียนมาร์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด จากการใช้ชีวิตอยู่ติดบ้าน หรือการไปวัดในเสาร์ อาทิตย์ ในปัจจุบันพบว่า ชาวเมียนมาร์มีการทำกิจกรรมนอกบ้านมากยิ่งขึ้น มีกลุ่มเพื่อน มีสังคม นัดสังสรรค์กันในยามว่าง ชอบพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ทั้งการชวนกันไปดื่มชากาแฟ การแฮงค์เอาท์กับเพื่อนฝูง รวมถึงการไปเที่ยวชมงานอีเว้นท์ต่างๆ สูงถึง 45% เช่น คอนเสิร์ต เทรดแฟร์ การประกวดศิลปินนักร้องต่างๆ กำลังเป็นที่ได้รับความนิยมในสังคมเมียนมาร์
“จะเห็นได้ว่าชาวเมียนมาร์ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด เปิดรับสิ่งใหม่อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่ไร้พรมแดน การบริโภคอุปโภคสินค้าใหม่ๆ หรือได้รับความสะดวกสบายจากสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพิ่มมากขึ้น แต่กลับพบว่าดัชนีความสุขของชาวพม่ากลับลดลง ปัจจัยหนึ่งคือการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของประเทศเมียนมาร์นั่นเอง จึงทำชาวเมียนมาร์นั้นต้องมีการปรับตัว และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น” น.ส.สรินพร จิวานันต์ ทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit