ด้านที่ 2 คณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบให้นำวัคซีนชนิดใหม่มาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 2 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (วัคซีนเอชพีวี) และวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด ซึ่งวัคซีนเอชพีวีเป็นวัคซีนที่คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าควรนำมาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโดยเร็ว เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง และเป็นเครื่องมือสำคัญร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในการลดปัญหามะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ได้เริ่มให้บริการวัคซีนเอชพีวีแก่นักเรียนหญิง ชั้น ป.5 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ.2557 เป็นต้นมา ผลการให้บริการในปีแรก พบว่า ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและครู ให้ความยอมรับวัคซีนป้องกันเอชพีวีเป็นอย่างดี ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนสูงกว่าร้อยละ 90 อีกทั้งยังไม่มีรายงานอาการภายหลังวัคซีนที่รุนแรง นอกจากนี้ ยังไม่พบว่าการให้วัคซีนดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในพื้นที่อีกด้วย
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลอย่างรอบด้าน คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งรัดจัดสรรงบประมาณและต่อรองราคาเพื่อให้เด็กไทยมีโอกาสได้รับวัคซีนป้องกันเอชพีวี เพื่อลดปัญหามะเร็งปากมดลูกในอนาคต ทั้งนี้ในปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกได้คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากถึงปีละประมาณ 5,000 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละกว่า 10,000 ราย นับเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในหญิงไทย การให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีการตรวจอย่างแพร่หลายในปัจจุบันอีกด้วย
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่ออีกว่า วัคซีนอีกชนิดหนึ่งที่คณะอนุกรรมการฯ แนะนำให้นำมาใช้ในแผนงานฯ คือวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพันธะสัญญาร่วมกับนานาประเทศในการร่วมกันกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดไปจากโลก ซึ่งในอดีตประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตและพิการแขนขาลีบจากเชื้อโปลิโอเป็นจำนวนมาก และมีการระบาดเป็นระยะ แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยควบคุมป้องกันโรคได้ผลดี ทำให้ไม่พบผู้ป่วยโปลิโอในประเทศไทยมานานกว่า 17 ปีแล้ว การนำวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดมาใช้ร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน จะเป็นก้าวย่างสำคัญที่ประเทศไทย จะก้าวสู่ความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งในการกวาดล้างโปลิโอร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้เด็กไทยปลอดภัยจากเชื้อโปลิโอที่อาจนำเข้ามาจากประเทศที่ยังมีการระบาด
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ มีข้อแนะนำว่าควรให้บริการวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด จำนวนสองเข็ม เมื่อเด็กอายุ 2 และ 4 เดือน แล้วใช้วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทานต่อจนครบ โดยควรเริ่มให้บริการดังกล่าวภายใน พ.ศ. 2558 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินการกำจัดกวาดล้างโรคโปลิโอในระดับนานาชาติ ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 02 590 3196-9 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit