พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนจะนำมาซึ่งการเคลื่อนย้ายที่เสรี การลดทอนกฎ กติกา ระเบียบระหว่างกัน ซึ่งปรากฏการณ์ของความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นนั้นนำมาซึ่งโอกาสและข้อจำกัดสำหรับคนไทยนานับประการ และผู้มีความพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นจึงจะก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ เพื่อใช้ประโยชน์จากการรวมตัวกันของประชาคมอาเซียน รัฐบาลโดย ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานและผู้ประกอบการ ต้องมีความรู้ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความรู้ทางวิชาการเท่านั้น ต้องมีความรู้รอบ สามารถเอาตัวรอด และดำรงตนเป็นพลเมืองอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงถึงเวลาที่คนไทยต้องช่วยกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความเข้มแข็ง มีความรู้ และสามารถก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นใจ โดยไม่ได้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเพียงหน่วยงานเดียว หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในการพัฒนาให้คนไทยต้องร่วมกันบูรณาการภายใต้หลักการของท่านพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการ“เสริมสร้างความเข้าใจ ใฝ่รู้ภาษา มุ่งพัฒนาสัมพันธ์ เท่าทันเทคโนโลยี สามัคคีอาเซียน” โดยกิจกรรมภายใต้ “โครงการการศึกษาไทยก้าวไกลสู่อาเซียน” นับเป็นการสร้างโอกาสในการเสริมสร้างการเรียนรู้ การนำเสนอเทคนิคการเรียนการสอนใหม่ ๆ และการเฟ้นหาสุดยอดผู้เรียนในด้านต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง
“การจัดโครงการการศึกษาไทยก้าวไกลสู่อาเซียน จะเป็นโอกาสสำคัญในการให้เยาวชนและบุคลากรทางการศึกษาของไทยได้เรียนรู้พัฒนาทักษะที่จำเป็น สามารถก้าวสู่เวทีสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกิจกรรมทางวิชาการและสันทนาการ รวมถึงการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา” พลเอก สุทัศน์ กล่าว
นายกมล ศิริบรรณ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการตามนโยบายของ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนให้มีสมรรถนะและขีดความสามารถพร้อมทั้งด้านวิชาการและการอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายเมื่อมีการรวมเป็นประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนกิจกรรมตามแนวทางของ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและภูมิภาค ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้สานต่อการจัดกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น ด้วยการเสริมสร้างจิตสำนึกที่ดีให้เกิดขึ้นจากภายในตัวบุคคลผ่านการปลูกฝังค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ ตามนโยบายของ ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพัฒนาคนไทยในทุกระดับให้มีความรักในความเป็นไทย รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีสติ รู้ผิดชอบชั่วดี มีคุณธรรมจริยธรรม รู้จักเคารพตนเองและผู้อื่น รวมไปถึง การเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งพหุวัฒนธรรม และก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ และได้จัด “โครงการการศึกษาไทยก้าวไกลสู่อาเซียน” ในครั้งนี้ขึ้น
โครงการการศึกษาไทยก้าวไกลสู่อาเซียน เป็นการดำเนินการในรูปแบบอาเซียนสัญจร ๔ ภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ สามารถบูรณาการเข้ากับการอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งประชาคมอาเซียน ตลอดจนใช้ประโยชน์จากการรวมตัวกันของประชาคมอาเซียนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองชุมชน สังคม และประเทศ ซึ่งกิจกรรมในรอบภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ได้จัดขึ้นไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๖-๒๗ มกราคมที่ผ่านมา ส่วนกิจกรรมในรอบภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๕-๖ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
“ในครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมในรอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาสมัครเข้าร่วมโครงการการศึกษาไทยก้าวไกลสู่อาเซียน จำนวนกว่า ๔๐๐ คน ซึ่งมีกิจกรรมประกอบด้วย การจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ให้ความรู้ในเชิงลึก การแข่งขันและประกวดทักษะทางวิชาการและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ จำนวน ๖ กิจกรรม รวมทั้งการจัดนิทรรศการ สถานีกิจกรรมฐานความรู้ประชาคมอาเซียน ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกในแต่ละกิจกรรมระดับภูมิภาค จะได้เป็นตัวแทนไปประกวดและแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศที่กรุงเทพมหานครในวันที่ ๒๓ มีนาคมนี้ โดยมีรางวัลเป็นการศึกษาดูงานในต่างประเทศและทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่า ๗๐๐,๐๐๐ บาท” นายกมล กล่าว