ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า...ในการทำนา “แกล้งข้าว”

23 Feb 2015
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดกิจกรรมรณรงค์ "การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน" เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่า โดยกรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดการจัดงานภายใต้แนวคิด "การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" มุ่งสร้างความร่วมมือและความตระหนักรู้ให้เกษตรกรทั่วประเทศเห็นถึงแนวทางการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ขณะเดียวกันยังมุ่งส่งเสริม เผยแพร่ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำในการปลูกพืชชนิดต่างๆ แก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ไปปรับใช้ในไร่นาของตนเองและสามารถใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่าด้วย
ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า...ในการทำนา “แกล้งข้าว”

การแกล้งข้าว...จึงเป็นวิธีการที่ทำให้เห็นถึงแนวทางการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร นายสุภาพ โนรีวงศ์ ตำบลดอนเกาะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา จะได้แนะนำเทคนิคการให้น้ำแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าว "แกล้งข้าว"

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “การทำนาแบบ “เปียกสลับแห้ง…แกล้งข้าว” จะทำโดยการเก็บน้ำไว้สำรองใช้ในช่วงฤดูแล้ง เราต้องเริ่มศึกษาจากสิ่งใกล้ตัวจนเริ่มเรียนรู้ว่าต้นข้าวเป็นพืช ที่สามารถใช้น้ำน้อย และทนแล้งได้ถึงขั้นพื้นดินแตกระแหง ข้าวจะแสดงอาการใบเหี่ยว สีคล้ำ หลังจากนั้นเมื่อฝนตกลงมา ต้นข้าวได้รับน้ำก็สามารถแตกกอเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีขึ้นกลายเป็นที่มาของการแกล้งข้าว

ดังนั้น การแกล้งข้าว จึงเป็นการควบคุมระดับน้ำในแปลงนาร่วมกับการผสมผสานเทคโนโลยีที่ทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งกระบวนการคือ ต้องวางระบบการให้น้ำที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของข้าวแบบ “เปียกสลับแห้ง” ดังนี้ 1. ควบคุมปริมาณน้ำในระดับ 5 เซนติเมตร ในช่วงที่ข้าวต้องการน้ำ หากน้ำลดลงจากระเหยและการใช้น้ำของข้าว ก็จะทำการเติมน้ำเข้าแปลงนาให้อยู่ในระดับเดิม 2.ช่วงที่ข้าวไม่ต้องการน้ำ จะทำการระบายน้ำออกเก็บไว้ในบ่อน้ำหรือปล่อยให้แห้งเองในกรณีที่น้ำในแปลงนาระเหยไปมากแล้ว 3.ตรวจสอบป้องกันการรั่วไหลของน้ำในแปลงนา เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

นอกจากนี้ นายสุภาพ โนรีวงศ์ เกษตรกรทำนา ได้อธิบายวิธีการให้น้ำที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของข้าว ซึ่งเราสามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้ 1. ช่วงเตรียมดิน ควรปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อเพิ่มปุ๋ยและอินทรียวัตถุ และไถกลบช่วงออกดอก หลังจากนั้นปล่อยน้ำเข้านาระดับ 5 เซนติเมตร นาน 20 วัน แล้วทำเทือกเตรียมหว่านพันธุ์ข้าว หรือโยนกล้า 2. ช่วงเริ่มปลูก ระยะข้าว 1-2 วัน จะทำการระบายน้ำออก 3. ช่วงระยะเจริญเติบโต ระยะข้าว 3-35 วัน ให้น้ำในระดับ 5 เซนติเมตรสม่ำเสมอ และช่วงที่ข้าวอายุ 25 วัน เริ่มใส่ปุ๋ย (ผมมีสูตรสำหรับผู้ที่จะทำการผสมปุ๋ยเอง ดังนี้ ใช้ ไนโตรเจน 6 ส่วน ฟอสเฟต 4 ส่วน โพแทสเซียม 6 ส่วน อัตรา 27 กก. ต่อไร่) ช่วงระยะข้าว 36-45 วัน จะทำการปล่อยน้ำในนาจนแห้ง (ดินแตกระแหง) เพื่อส่งเสริมให้รากลงลึก แข็งแรง แตกกอดี และป้องกันโรคและแมลง ระยะข้าว 46-90 วัน ให้น้ำในระดับ 5เซนติเมตร ช่วงนี้จะใส่ปุ๋ยแต่งหน้า (ไนโตรเจน 1.5 กก. ต่อไร่) เพื่อบำรุงต้น เร่งดอก ถ้าน้ำลดลงหรือแห้งให้เติมน้ำจนถึงช่วงข้าวโน้มรวง หรือข้าวก้ม ปล่อยน้ำออกให้แห้ง รอการเก็บเกี่ยว

นายสุภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำนาแบบเปียกสลับแห้งก็มีข้อจำกัดเช่นกัน คือ 1. ทำได้ในพื้นที่ที่ควบคุมน้ำได้ และมีต้นทุนการเอาน้ำเข้านาต่ำ เช่น พื้นที่ชลประทาน 2. ไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ดินเค็ม อาจทำให้ข้าวตายได้ 3. งดเว้นการปล่อยน้ำให้แห้ง “ช่วงข้าวตั้งท้อง” 4. ดินที่เหมาะสม คือ ดินที่ไม่เผาตอฟาง (มีอินทรียวัตถุในดินให้ข้าวเลี้ยงตัวระหว่างหน้าดินแล้ง)

เรามักจะมองข้ามสิ่งที่ธรรมชาติให้มา ได้แก่ ดิน น้ำ อากาศและแสงแดด พึ่งพาแต่ปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยา ฯลฯ ทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ใช้ศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น แต่ระบบผลิต “เปียกสลับเเห้ง...แกล้งข้าว" เป็นการใช้ "ฟิสิกส์-วิธีกล" ทำนา เราจึงให้ความสำคัญกับทรัพยากรทางกายภาพที่มีในพื้นที่อย่าง "ดิน- น้ำ -อากาศ- แสงเเดด" ได้ทำงานกันอย่างเต็มที่

แต่การทำนา “เปียกสลับแห้ง..แกล้งข้าว” ก็มีประโยชน์มากมายไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของต้นข้าว ต้นข้าวมีความแข็งแรงหากินเก่ง ต้านทานต่อโรคและแมลง (ทำให้ใช้ปุ๋ยและสารเคมีลดน้อยลง ) สร้างผลผลิต (เพิ่มราก เพิ่มลำ/หน่อ เพิ่มรวง เพิ่มน้ำหนัก เพราะรากขยัน) อีกทั้งยังใช้น้ำน้อย เพราะการหมัก การแช่น้ำขัง ในแปลงนาต่อเนื่อง ไม่ปล่อยให้แห้ง เป็นที่มาของการใช้ สารเคมีทำให้ระบบนิเวศน์ถูกทำลายและยังทำลายคุณภาพชีวิตในระบบการผลิตข้าวอีกด้วย และพื้นดินไม่หล่ม ทำให้ชาวนาลงไปจัดการกับแปลงนาของตนเองได้ง่ายขึ้น เช่น ตัดพันธุ์ปน กำจัดวัชพืชก็ทำได้โดยง่าย เป็นต้น

สำหรับการหว่านปุ๋ย สามารถทำตอนน้ำแห้งได้เลย ซึ่งเป็นการให้ปุ๋ยตอนข้าวกำลังหิว เมล็ดปุ๋ยจะไหลไปตามซอกระแหงของดิน พอเติมน้ำเข้าไป ข้าวสามารถนำไปใช้ได้อย่างเต็มที่ (ทำให้เราใช้ปุ๋ยน้อยลง) แต่การใช้วิธีปักดำ จะช่วยให้ข้าวได้แสงแดดและอากาศเต็มที่ ทำให้ข้าวไม่อัดแน่นจนเกินไปจึงแตกกอได้ดีมีพื้นที่หากิน ไม่แย่งอาหารกัน และช่วยประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์ได้มากถึง (ร้อยละ 70 ต่อไร่เลยทีเดียว) และเมื่อเกิดการแตกระแหงของดิน จะทำให้ก๊าซมีเทนในนาข้าวลดลง ทำให้รากได้รับออกซิเจนเต็มที่ สำหรับระบบรากนาดำ จะไม่ลอยหาอาหารหน้าผิวดินเหมือนนาหว่าน แต่รากจะหากินลึกจึงช่วยยึดลำต้นทำให้ข้าวไม่ล้มตอนเก็บเกี่ยว และที่สำคัญช่วย ลดต้นทุนค่าสูบน้ำเข้านา เพราะชาวนาจะใช้น้ำเท่าที่จำเป็นต่อนาข้าว จึงไม่เกิดการทะเลาะเพราะเรื่องแย่งน้ำกัน เมื่อความชื้นในนามีน้อยก็จะช่วยลดการระบาดของโรค แมลงทำให้หมดปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอีกด้วย

ทำให้ผลที่ได้จากการวางระบบการใช้น้ำในนาข้าวของนายสุภาพ โนรีวงศ์ ซึ่งใช้เทคนิคการให้น้ำแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวและใช้น้ำอย่างมีคุณค่า เหมาะสมกับความต้องการของข้าวในสภาวะที่น้ำธรรมชาติและน้ำชลประทานมีจำกัด เกษตรกรสามารถนำภูมิปัญญาแนวทางหรือวิธีการดังกล่าวไปปรับใช้ในนาของตนเอง เพื่อสามารถรับมือและจัดการกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งได้ ทั้งนี้วิธีการหรือแนวทางดังกล่าวยังเป็นการช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ และเป็นการทำการตลาดในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย

เกษตรกรที่สนใจสามารถร่วมเรียนรู้ เทคนิคการให้น้ำแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าว "แกล้งข้าว" ได้ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (นายสุภาพ โนรีวงค์) ตำบลดอนเกาะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา

HTML::image( HTML::image( HTML::image(