มทร.ธัญบุรี นำร่องจัดการเรียนการสอนแบบ ‘ซีดีไอโอ’ ปั้น ‘นักปฏิบัติมืออาชีพ’ สู่โลกการทำงาน

23 Feb 2015
“การจัดการศึกษาแบบเดิม ไม่ช่วยกระตุ้นให้นักศึกษามีการตื่นตัวเพื่อเรียนรู้ ทำให้เราเห็นภาพแบบเดิม ๆ ของบรรดานักศึกษาที่เข้ามาคุยกัน บ้างก็เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือนำงานอื่นเข้ามาทำในเวลาเรียน หรือรู้สึกเบื่อหน่าย ขอเรียนให้ผ่านพ้นไป และขาดความรับผิดชอบกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง”

นี่เป็นเสียงสะท้อนจากอาจารย์ผู้สอนระดับมหาวิทยาลัยหลายท่าน แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามหาทางแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่ตระหนักในเรื่องดังกล่าว โดยนำการจัดการศึกษาแบบ CDIO (CDIO-Based Education Framework) มาประยุกต์ใช้จนเป็นที่ประจักษ์ และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับเป็นสมาชิก ซึ่งมีฐานะเป็น CDIO Collaborator หรือผู้ประสานงานในประเทศไทย

รศ.ดร.ณฐา คุปตัษเฐียร ผู้ช่วยอธิการบดี และผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และเป็น CDIO Master Trainer เผยว่า การจัดการศึกษาแบบ CDIO เป็นแนวคิดในการสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับการพัฒนามาจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจาก 4 สถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก คือ Chalmers University of Technology, KTH Royal Institute of Technology, Linkoping University ประเทศสวีเดน และ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ใกล้เคียงวิชาชีพวิศวกรมากที่สุด ซึ่งพบว่า บริบทของการทำงานวิชาชีพวิศวกร ได้แก่ การรับรู้ปัญหาจริงจากผู้ใช้ (Conceive) การออกแบบหรือหาแนวทางการแก้ปัญหา (Design) การสร้าง การผลิต และการประยุกต์ใช้ (Implement) และการนำไปใช้ดำเนินงานจริง (Operate) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า CDIO ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายและถูกนำไปใช้ในแวดวงการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 117 สถาบันทั่วโลก

“มทร.ธัญบุรี ให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาแบบ CDIO เพราะเป็นกรอบแนวคิดที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศในการให้ความรู้ การเตรียมความชำนาญ พร้อมด้วยทัศนคติและเจตคติแก่ผู้เรียน ทั้งยังตอบโจทย์ผู้บริหารการศึกษา และผู้สอนในการสร้างบัณฑิตให้มีคุณสมบัติตามที่สถานประกอบการพึงประสงค์ โดยเน้นทักษะด้านการสื่อสาร การคิด และการทำงานเป็นทีม เพื่อผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพที่จบออกไปแล้ว สามารถทำงานในภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล อันสอดคล้องกับแผนพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งตรงตามอัตลักษณ์บัณฑิตที่ว่า บัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ”

“การจัดการศึกษาแบบ CDIO นี้ มีแนวทางที่ชัดเจนอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรก คือ CDIO Syllabus กล่าวถึง ความรู้ ทักษะความชำนาญ ทัศนคติ อะไรบ้างที่ควรจะสอนและเตรียมนักศึกษา ประกอบด้วยรายละเอียดขององค์ความรู้ด้านเทคนิคและเหตุผลเชิงวิศวกรรม ทักษะส่วนบุคคลและความเป็นมืออาชีพ และทักษะระหว่างบุคคล รวมถึงบริบทขององค์กรธุรกิจและบริบทของสังคม ส่วนที่สอง คือ CDIO Standard จะกล่าวถึงแนวทางในการปฏิบัติในการได้มาซึ่ง ความรู้ ทักษะความชำนาญ และทัศนคติ ที่จะสอนและปลูกฝังให้ผู้เรียน ประกอบด้วย มาตรฐานทั้งหมด 12 ข้อ ที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการสังเกตลักษณะของหลักสูตร และบัณฑิตที่จบจากการจัดการศึกษาแบบ CDIO โดยองค์ประกอบของความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนแบบ CDIO ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรแบบ บูรณาการพร้อมด้วยประสบการณ์การออกแบบ-สร้าง พื้นที่ทำงาน (Work Space) วิธีการเรียนการสอนแบบผู้เรียนมีส่วนร่วม การพัฒนาศักยภาพของผู้สอน และการประเมินผลการเรียนรู้และประเมินผลหลักสูตร”

“มทร.ธัญบุรี นำการจัดการศึกษาแบบ CDIO มาประยุกต์ใช้ทั้งหลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการ หลักสูตรวิศวกรรมเคมีสิ่งทอ โดยระบุชัดเจนว่าจะใช้ CDIO-Based Education เป็นบริบทหลักสูตรปี 2558 และบูรณาการทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการไว้ในรายวิชาตลอด 8 ภาคการศึกษา ปรับปรุงอาคาร ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ และพื้นที่การทำงานของนักศึกษา มีการอบรมคณาจารย์ของภาควิชาในการเพิ่มศักยภาพและทักษะการสอน รวมถึงมีการประเมินผลการดำเนินงานของหลักสูตร ส่วนหลักสูตรอื่น ๆ มีการนำไปประยุกต์ใช้ในระดับรายวิชา” รศ.ดร.ณฐา กล่าว

“มทร.ธัญบุรี ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดการเรียนการสอนแบบ CDIO อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 สำหรับผู้สอน เกี่ยวกับทักษะการคิด การทำงานเป็นทีม และการสื่อสาร ซึ่งมีกระแสที่ดีจากการตอบรับจากอาจารย์ผู้สอนหลายคณะ และยังนำโปรแกรมสนทนาผ่านเครือข่ายไร้สาย หรือไลน์แอพพลิเคชั่น มาใช้ระหว่างอาจารย์ผู้สอนด้วยกัน เพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ รายงานผลการปฏิบัติงาน หรือนำเสนอเทคนิคการสอนในรูปแบบต่าง ๆ เกี่ยวกับ CDIO ทำให้เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ที่สนใจในเรื่อง CDIO มีความเข้มแข็ง ส่วนทิศทางต่อจากนี้จะขยายผลการจัดการศึกษาแบบ CDIO ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย ใน 10 คณะ และ 1 วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย จะมีการจัดอบรมและเข้าร่วมอบรมสัมมนาอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสั่งสมประสบการณ์ รวมถึงการสร้าง CDIO Master Trainer ของมหาวิทยาลัยให้เพิ่มขึ้น” รศ.ดร.ณฐา กล่าวเพิ่มเติม

รศ.ดร.เนตร์พัณณา ยาวิราช ผู้ช่วยคณบดี โครงการหลักสูตรนานาชาติ คณะบริหารธุรกิจ หนึ่งในผู้ที่นำการจัดการศึกษาแบบ CDIO มาประยุกต์ในระดับรายวิชา เล่าว่า ปัจจุบันการเรียนการสอนใช้รูปแบบวิธีการเดิม ๆ แบบ One-way Communication ไม่ได้แล้ว รูปแบบการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนไปด้วยวิธีการที่เรียกว่า Active Learning ทำให้นักศึกษาตื่นตัว ต้องการอยากที่จะรู้ มีการใช้ความคิดใช้สติในการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ซึ่งตรงกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยด้วย อยากให้อาจารย์ทุกท่านใช้การเรียนการสอนตามแนวทางนี้ จะพบความเปลี่ยนแปลงห้องเรียนไม่น่าเบื่อเหมือนดังในอดีต นักศึกษามีความตื่นตัว และถูกกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยความหลากหลายทางเทคนิคการสอน สร้างบรรยากาศที่สนุกในชั้นเรียน จึงทำให้การเรียนการสอนไม่สูญเปล่า

อาจารย์ปาริฉัตร พยุงศรี อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาตะวันออก วิชาภาษาไทย เล่าว่า จากการอบรมครั้งที่ผ่านมาได้เทคนิคการสอนแบบ Active Learning ไปใช้หลากหลายมาก เช่น Jigsaw Classroom, One Minute Paper, Round Table, Free Write, Two Column Method, Mind Mapping, Concept Mapping เป็นต้น นักศึกษาจะตื่นเต้นเวลาเข้าเรียน เพราะรู้สึกว่าไม่ได้มานั่งฟังเฉย ๆ แต่มีส่วนร่วมในการเรียนอย่างเต็มที่ รู้สึกเหมือนได้เล่นเกม เล่นเป็นอาจารย์ เล่นเป็นหัวหน้า เล่นเป็นทีมงาน เล่นเป็นตัวเอง ได้คิดได้เขียน ได้พูดคุย ได้นำเสนอ ทั้งยังได้รับความรู้กลับไปอย่างเต็มที่โดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้เรียน

“ไม่มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนใดที่ดีที่สุด แต่สำหรับดิฉัน CDIO คือการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมที่สุดในยุคนี้ จากการเข้าร่วมอบรมและนำไปใช้รู้สึกว่ามีความสุขมากขึ้น ตั้งแต่เตรียมสอน ตื่นเต้นที่จะได้ใช้เทคนิคต่าง ๆ และอยากเข้าสอนทุกครั้ง เมื่ออาจารย์มีความสุขเวลาสอน นักศึกษาก็มีความสุขเวลาเรียนด้วย ความสุขส่งต่อกันได้ เมื่อห้องเรียนเต็มไปด้วยความสุข ความสนุกก็เกิดขึ้น”

“จากที่เคยจัดการเรียนการสอนด้วย CDIO มา ยังไม่พบปัญหาเรื่องเวลาสอนไม่พอ เพราะการเตรียมสอนทุกครั้ง เราต้องรู้ก่อนว่า เราจะสอนใคร นักศึกษาที่สอนเรียนสาขาอะไร จากนั้นดูว่าเราจะสอนเรื่องอะไร สอนที่ไหนเพราะห้องเรียนแต่ละห้องจัดกิจกรรมได้ต่างกันจะใช้เทคนิควิธีการสอนแบบใดที่เกิดความคล่องตัวมากที่สุด และสิ่งสุดท้าย แต่สำคัญที่สุดคือเราจะสอนอย่างไร เทคนิคการสอนแบบใด เราก็จะออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับเวลาที่มี แต่ละสัปดาห์ก็สอนครบตามเนื้อหาที่ตั้งไว้ เทอมนี้ใช้ CDIO กับการเขียนเชิงวิชาชีพทั้งสองห้องก็ยังไม่มีปัญหาเรื่องจัดกิจกรรมในชั้นทำให้สอนไม่ทัน เพราะกิจกรรมที่เราจัดก็มาจากทฤษฎีที่เราจะสอนเขา หรือความรู้ที่เราจะให้เขาในแต่ละครั้งอยู่แล้ว”

ด้าน ดร.อนินต์ มีมนต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่า CDIO ช่วยพัฒนาการเรียนการสอนแบบเดิม เมื่อก่อนอาจารย์เตรียมการสอนเป็นเดือน ๆ พอสอนจริงเด็กไม่รับเลย แถมง่วงอีก แต่ CDIO เป็นการสอนรูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้สอนให้นักศึกษาท่องจำ แต่เป็นการสอนไอเดียแล้วให้ทำกิจกรรม เพื่อให้มีการจดจำได้มากขึ้น เข้าใจในสิ่งนั้น คิดเป็นทำเป็น วิชาที่เอาไปใช้คือวิชา Pre-Project การเตรียมโครงงานวิศวกรรมอุตสาหการ ได้เห็นพฤติกรรมของนักศึกษาที่ต่างออกไป เวลาที่มาเสนอโครงงาน ก่อนนี้จะเดินมาคุย แล้วก็คุยไม่รู้เรื่องไม่รู้ประเด็น แต่คราวนี้วาด Mind Mapping สรุปเป็นตารางมาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียอย่างไร ทำให้เห็นภาพที่พัฒนาขึ้น แม้จะยังประเมินออกมาเป็นคะแนนไม่ได้ แต่พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไป จากการสอนด้วยทักษะ Thinking Skill คิดให้เป็นระบบ

เช่นเดียวกับ ดร.ธีระวัฒน์ เหมือนศรีชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมีและวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่า CDIO เป็นเหมือนมาตรฐานที่ใช้ปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน ซึ่งมีทั้งหมด 12 มาตรฐาน และที่จะนำมาใช้มากที่สุด คือ มาตรฐานที่ 7 Active Learning บรรยากาศในห้องเรียนจะไม่มีนักศึกษาคนใดหลับ ไม่เอาเวลาเรียนไปทำอย่างอื่นอย่างที่เคยทำมา และไม่ได้มานั่งฟังเพียงอย่างเดียว เพราะมีกิจกรรมระหว่างเรียนมากขึ้น เทคนิคการสอนที่ใช้บ่อย คือ Jigsaw Classroom โดยแบ่งเนื้อหาเป็นส่วน ๆ แล้วจัดกลุ่ม ซึ่งแต่ละคนในกลุ่มจะต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่ตนได้รับ และทำความเข้าใจในส่วนนั้น จากเอกสารที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ หลังจากนั้นจะจัดกลุ่มใหม่อีกครั้ง โดยนำคนที่ได้เนื้อหาเรื่องเดียวกันมาอยู่ด้วยกัน แล้วร่วมสรุปกันในกลุ่ม และนำกลับมาอธิบายเพื่อนในกลุ่มเดิมที่จัดไว้ครั้งแรก เอามาสานต่อกันเสมือน Jigsaw ภาพใหญ่ และท้ายชั่วโมงเรียนจะสรุปรวมอีกครั้ง เพื่อทบทวนและมีอาจารย์ร่วมสรุปด้วย โดยส่วนตัวแม้จะใช้เวลาการเตรียมตัวมากกว่าการสอนตามปกตินิดหน่อย แต่ก็เห็นโอกาสและทิศทางที่ดีของการจัดการเรียนการสอน CDIO จะประสบผลสำเร็จ คงต้องดูภาพรวมทั้งหลักสูตร ร้อยเรียงกันไปตั้งแต่ชั้นที่ปี 1 และอยากให้อาจารย์ได้นำแนวทางนี้ไปใช้มากยิ่งขึ้น

“การจัดการศึกษาแบบ CDIO ต้องอาศัยเทคนิคการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนรับผิดชอบกับกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง ได้ลงมือปฏิบัติ?มีโอกาสออกแบบและสร้าง ในช่วงปีแรกๆ ไปจนถึงการทำโครงการในปีสุดท้าย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้นักศึกษาพัฒนาทักษะทางวิชาชีพแล้ว ยังช่วยเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นในการทำงานควบคู่ไปด้วย ทั้งทักษะการคิด การทำงานเป็นทีม และการสื่อสาร ขณะเดียวกัน การพัฒนาผู้สอนให้มีทักษะ CDIO และเพิ่มศักยภาพในการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นเดียวกัน”?รศ.ดร.ณฐา สรุปทิ้งท้าย

การจัดการเรียนการสอนที่พัฒนายิ่งขึ้นไป ของ มทร.ธัญบุรี นี้ เสมือนพิมพ์เขียวที่สำคัญของแวดวงการศึกษาไทย ที่จะเสริมบัณฑิตให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมสู่โลกการทำงานจริงในอนาคตต่อไป

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit