“บลจ.ฟินันซ่า ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ยังขยายตัวในระดับต่ำ โดยแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความล่าช้า เนื่องจากต้องใช้เวลาในการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในโครงการดังกล่าว ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2558 ต่ำกว่าเป้าหมาย สำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ 2.00% ในการประชุมครั้งล่าสุด หากเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อยังคงขยายตัวในระดับต่ำเช่นนี้อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในระยะถัดไป ด้านปัจจัยภายนอกประเทศ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกทั้งในยุโรป จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย แม้ว่าธนาคารกลางต่าง ๆ จะมีการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ตาม โดยล่าสุดธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและเอกชนเดือนละ 60,000 ล้านยูโร โดยจะเริ่มเข้าซื้อตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 ถึงเดือนกันยายน 2559 และธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBOC) ได้ปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง 0.50% ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบได้ อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีต่างๆ อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 2558 และ 2559 ลงมา ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่กดดันการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงในระดับต่ำและอัตราผลตอบแทนที่ดีจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ”
บลจ.ฟินันซ่า จึงออกเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ 3 เดือน ชื่อกองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3เดือน2 (FAM FIPR3M2) โดยมีอัตราผลตอบแทนโดยประมาณ 2.50% ต่อปี เปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 17 - 24 ก.พ. 2558 ซึ่ง เป็นกองทุนที่โรลโอเวอร์มาจากการขายกองทุนก่อนหน้านี้ เป็นกองทุน Specific fund ทั้งนี้กองทุนมีการป้องกันความเสี่ยงด้านการแลกเปลี่ยนเต็มจำนวนโดยกองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้พลัสโรลโอเวอร์ 3เดือน2 (FAM FIPR3M2) จะพิจารณาลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ตราสารทางการเงินและ/หรือ เงินฝากของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ เงินฝากธนาคารต่างประเทศสกุลเงิน USD, CNY, HKD, EUR, JPY กับธนาคาร BOC (Macau), Standard Chartered Bank (Hong Kong), ธนาคาร CIMB Niaga (Indonesia), ตั๋วเงินหรือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ, ตั๋วแลกเงิน บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (BBB+), ตั๋วแลกเงิน บมจ. ราชธานีลิสซิ่ง (BBB+), ตั๋วแลกเงิน บจ. บีเอสแอล ลีสซิ่ง (BBB) หรือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป, ตั๋วเงินคลัง หรือ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit