รมว.พม. เร่งขับเคลื่อนการจัดระเบียบคนขอทาน พร้อมขยายผลทั่วประเทศ

15 Jan 2015
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.)ครั้งที่ ๘/๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น ๘ อาคารใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการขอทานว่า กระทรวงฯ ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการขอทาน ๓ ด้าน ดังนี้ ๑)การบังคับใช้กฎหมาย (Policy) โดยจะจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการขอทานระดับจังหวัด คือ กรุงเทพฯ และภูมิภาค เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ๒)การคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) ในขั้นตอนนี้จะดำเนินการคัดแยกเหยื่อจากการค้ามนุษย์ และจัดบริการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพในสถานสงเคราะห์ และ ๓)การป้องกัน (Prevention) ได้แก่ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิประโยชน์ การจัดทำความร่วมมือ (MOU) กับเครือข่ายแก้ไขปัญหาขอทานต่างด้าว และการรณรงค์การจัดระเบียบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในวันพุธที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๘ จะมีการจัดประชุมเรื่องการดำเนินงานแก้ไขปัญหาคนขอทานคณะทำงานชุดใหญ่ ประกอบด้วย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด กรุงเทพมหานคร เทศกิจ และมูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น เพื่อขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบปัญหาสังคม กรณีหนุ่มร่างแคระพิการแขนขาด้วน อายุ ๒๘ ปี มีอาชีพขายข้าวเหนียวปิ้ง เพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ พยายามใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปมีความขยัน สู้ชีวิต และกตัญญู ที่จังหวัดสงขลา ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา (สนง.พมจ.สงขลา) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ในการใช้ชีวิตประจำวัน พร้อมยกย่องเป็นตัวอย่างคนสู้ชีวิต มีความกตัญญู และกรณีเด็กสาวอายุ ๑๖ ปี พร้อมเพื่อนจำนวน ๔-๕ คน จับกลุ่มหนีโรงเรียน เพื่อมาเปิดห้องพักที่โรงแรมมั่วสุมกันเสพยา โดยนำเงินจากการ ค้าประเวณีมาซื้อยาเสพ ที่จังหวัดน่าน ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดน่าน (สนง.พมจ.น่าน) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลเรื่องการปรับพฤติกรรมและทัศนคติของกลุ่มเยาวชนดังกล่าวต่อไป อีกกรณีเด็กหญิงอายุ ๑๓ ปี ต้องหยุดเรียนออกมาหาเลี้ยงยาย ที่ป่วยเป็นโรคแขนขาอ่อนแรง โดยเรียนจบแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ และไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน ที่จังหวัดสุโขทัย ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุโขทัย (สนง.พมจ.สุโขทัย) เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการศึกษาของเด็กอย่างต่อเนื่อง พร้อมยกย่องเป็นแบบอย่างที่ดีของเด็กกตัญญูต่อไป

“เมื่อวันอังคารที่ ๑๓ ม.ค. ที่ผ่านมา มีประกาศกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสํานักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๘ โดยเปลี่ยนการแบ่งส่วนราชการใหม่ ประกอบด้วย ๑)สํานักงานเลขานุการกรม ๒)กองกองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ ๓)กองยุทธศาสตร์และแผนงาน และ ๔)กองส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการคนพิการ เพื่อให้การดำเนินงานด้านคนพิการมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย