นาย
ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ
อยุธยา รัฐมนตรีว่า
การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการจัด
ตลาดนัดเกษตรกร ซึ่งจากข้อมูลการประเมิน
โครงการตลาดเกษตรกร ครั้งที่ 1 โดย
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า จากการลงพื้นที่ติดตามและสำรวจตลาดเกษตรกรในพื้นที่ 50 จังหวัด สรุปได้ 10 ด้าน ดังนี้ 1) มีผู้ขายที่เป็นเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ ร้อยละ 85.79 แบ่งเป็น ภาคเหนือ ร้อยละ 98.82 ภาคกลาง ร้อยละ 83.59 ภาคตะวันออก/เหนือ ร้อยละ 82.59 และภาคใต้ ร้อยละ 77.70 2) มีสินค้าที่มีมาตรฐานและมีป้ายแสดงราคา รวมทั้งสิ้น ร้อยละ 39.35 3) ประเภทสินค้าที่นำมาจำหน่าย มากที่สุด คือ ผัก ร้อยละ 31.88 สินค้าแปรรูป ร้อยละ 20.29 ข้าว ร้อยละ 17.39 สินค้าอื่น ๆ ร้อยละ 15.94 ผลไม้ ร้อยละ 13.04 และ สินค้าอุปโภค/บริโภค ร้อยละ 1.45 ตามลำดับ 4) มูลค่าสินค้าคุณภาพต่อสินค้าทั้งที่ขายได้ โดยมีสินค้าทั้งหมด จำนวน 64,003 บาท มีสินค้าคุณภาพ 21,847 บาท หรือร้อยละ 34.13 5) ผู้บริโภค (ผู้ซื้อ) มีการตัดสินใจซื้อโดยพิจารณาจาก คุณภาพ 64% และราคาถูก 36% 6) มีการจัดตลาดตามแผนผัง 24% 7) การติดป้ายสัญลักษณ์ 94% 8) การกำหนดวันจัดตลาด ในวันศุกร์ 60% วันเสาร์หรือวันอาทิตย์ 16% และวันอื่น ๆ 24% 9) การสุ่มตรวจสารตกค้าง/ปิดประกาศให้ทราบ 22% และ 10) การริเริ่มรวมกลุ่มบริหารจัดการตลาด 56%
นายปีติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่เป็นจุดแข็งของตลาดเกษตรกร คือ ผู้ขายส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรตัวจริง ซึ่งมีสินค้าคุณภาพมาจำหน่ายจำนวนมากและเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในเมือง มีการจำหน่ายสินค้าทุกวันศุกร์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องมีการพัฒนาสำหรับการจัดตลาดเกษตรกร ได้แก่ การตรวจสารตกค้างและการติดฉลากโฆษณาคุณภาพ การจัดโซนการวางสินค้าในตลาด และการริเริ่มรวมกลุ่มบริหารจัดการตลาดในรูปคณะกรรมการฯ ทั้งนี้ เพื่อที่จะสามารถดำเนินการในการจัดหาสถานที่เพื่อจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรได้เองต่อไป
ขณะเดียวกัน ยังได้สั่งการให้มีการปรับรูปแบบตลาดเกษตรกร โดยเฉพาะสินค้าที่นำมาจำหน่ายจะต้องเป็นสินค้าเกษตรเกรดพรีเมี่ยม ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยโดยติดเครื่องหมาย Q เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค อีกทั้งสถานที่จัดตั้งตลาดเกษตรกรที่บางจังหวัดยังไม่ใช่ตลาดในเขตเมืองจึงไม่สะดวกกับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า รวมทั้งสิ่งสำคัญที่สุดคือหน่วยงานเจ้าภาพในพื้นที่ ซึ่งจะต้องกำหนดให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพของจังหวัด เช่น พื้นที่ภาคตะวันออกเป็นแหล่งผลิตสินค้าปศุสัตว์ของประเทศ กรมปศุสัตว์ก็จะเป็นเจ้าภาพดำเนินการเป็นต้น