นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.7) กล่าวว่า โรคผิวหนังเนื้อชาหรือโรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อเรื้อรังชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มักอาศัยอยู่ในบริเวณผิวหนัง และเส้นประสาทส่วนปลาย และ เยื่อบุจมูกของผู้ป่วยระยะติดต่อ ลักษณะอาการทางผิวหนังที่สังเกตได้ง่ายคือ เป็นวงด่างขาว สีซีดจางหรือเข้มกว่าผิวหนังปกติ อาจเป็นผื่นหรือตุ่มนูนแดงหนา กระจายไปทั่วตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีอาการชา ผิวหนังแห้ง เหงื่อไม่ออก เป็นมัน ไม่คัน บริเวณที่พบมาก คือ แขน ขา หลัง และสะโพก ในปัจจุบันยารักษาโรคผิวหนังเนื้อชามีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถใช้รักษาผู้ป่วยให้หายได้ ด้วยการกินยาเป็นระยะเวลา 6 เดือน ถึง 2 ปี และหากผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก็จะไม่มีความพิการเกิดขึ้น ถึงแม้โรคผิวหนังเนื้อชา จะสามารถติดต่อกันได้ และอาจทำให้เกิดความพิการ แต่ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงกับเสียชีวิต ผู้ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกับผู้ป่วย หรืออยู่ในชุมชนที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคผิวหนังเนื้อชาควรไปรับการตรวจร่างกายจากแพทย์ปีละครั้ง หรือสำรวจตนเอง และคนในครอบครัวเพื่อค้นหาอาการเริ่มแรกของโรค หากพบอาการผิดปกติ ต้องรีบรับการตรวจรักษา ก่อนที่โรคจะลุกลามจนเกิดความพิการ
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า สคร.7 ได้น้อมนำพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประทีปนำทาง ที่จะช่วยกันให้โรคเรื้อนหมดไปจากประเทศไทย จัดงานรณรงค์วันราชประชาสมาสัย ประจำปี 2558 "รวมพลัง เร่งรัด กำจัด โรคผิวหนังเนื้อชา" โดยร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทรายมูล องค์การบริหารส่วนตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา ภายในงานได้จัดนิทรรศการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคผิวหนังเนื้อชา การบรรยายให้ความรู้ การแสดงนิทรรศการ กิจกรรมตอบปัญหาชิงรางวัลมากมาย และการให้บริการตรวจโรคผิวหนังฟรีแก่ผู้เข้าร่วมงานที่สนใจ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมการสำรวจร่างกายตนเองผู้สัมผัสโรคในชุมชน มีทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคผิวหนังเนื้อชา รวมทั้งมีส่วนร่วมในการค้นหาผู้ป่วยโรคผิวหนังเนื้อชารายใหม่ในชุมชนด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit