วิกฤตการณ์ฆ่าช้างเอางาในทวีปแอฟริกาพุ่งสูงกว่า 20,000 ตัวต่อปี โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของงาช้างเหล่านี้ ตลาดค้างาช้างในไทยใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน ทั้งๆ ที่ช้างเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและมีความผูกพันกับคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน และเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าคนไทยทุกคนรักช้าง ในการนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและให้คนไทยร่วมกันแสดงความรักช้าง และไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นแหล่งฟอกงาช้างผิดกฎหมายอีกต่อไปโดยร่วมต้านการฆ่าช้างเอางา
“WWF มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับช้างตายและการลักลอบค้างาช้างมาโดยตลอด และเราเห็นว่านี่คือ วิกฤติที่เราต้องร่วมกันหยุดยั้งให้ได้ สิ่งที่เรากังวลคือ การค้างาช้างในปัจจุบันยังไม่ลดลงสืบเนื่องจากความต้องการในไทยและจีน ซึ่งความต้องการเหล่านี้จะยิ่งไปเพิ่มให้เกิดการฆ่าช้างเพื่อเอางามากขึ้น จำนวนประชากรของช้างป่าลดลงทุกปี และที่สำคัญก็คือ การล่าช้างเอางา โดยไม่สนใจว่าเป็นช้างอยู่ที่ไหน เป็นช้างของใคร เพราะเขาต้องการแค่งา ตราบใดที่ยังมีความต้องการ ไม่ว่าช้างแอฟริกา ช้างไทย หรือช้างเอเชียต่างก็เผชิญกับวิกฤตินี้” จันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการโครงการรณรงค์การต่อต้านการค้างาช้าง, WWF-ประเทศไทย กล่าว
ช้าง "หายไป" จากธรรมชาติ จากโลกของเราปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 ตัวเพราะถูกฆ่าเอางา หลายคนอาจไม่รับรู้ถึงความสูญเสีย แต่ถ้าหากวันหนึ่ง ช.ช้าง "หายไป" จากการสื่อสารในชีวิตประจำวัน "หายไป" จากชื่อของเรา ....เราจะเห็นถึงความสำคัญของ “ช้าง” เท่ากับ “ช.ช้าง” หรือไม่....
แคมเปญ “ช.ช้าง ช่วยช้าง” เน้นย้ำถึงความผูกพันของ “ช้าง” กับ “คนไทย” เช่น ในภาษาและตัวอักษร ซึ่งคนไทยสามารถแสดงออกถึงความรักต่อช้างด้วยการรวมพลังต้านการฆ่าช้างเอางาได้ โดยการถ่ายรูป พยัญชนะ “ช” ที่หายไปจากสิ่งรอบตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล, ชื่อบริษัท, ห้างร้าน, องค์กร, ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ฯลฯ แล้วแชร์ใน Facebook, Instagram หรือ Twitter พร้อม #ชช้างช่วยช้าง และ #wwfthailand
ในวันที่ 12 มกราคมนี้ สื่อมวลชนที่ร่วมสนับสนุนและแสดงพลัง “ช.ช้าง ช่วยช้าง” ได้แก่ เนชั่นทีวี และ ไทยรัฐทีวี ซึ่งนำ “ช” ออกจากชื่อรายการและชื่อผู้ประกาศข่าว รวมทั้งช่องทางโซเชียลมีเดียของสถานีและผู้ประกาศข่าว ร่วมแสดงพลังโดยจะเอา “ช” ออกจากโพสต์ทางโซเชียลมีเดียทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม และบุคคลที่มีชื่อเสียงที่พร้อมใจกันเอา ช. ออกจากชื่อและสิ่งรอบๆ ตัว ได้แก่ คุณชัยรัตน์ ถมยา,คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย, คุณนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์, คุณวัชรบูล ลี้สุวรรณ, คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์, คุณชลลดา เมฆราตรี, คุณชลิต นาคพะวัน, คุณสุทธิชัย หยุ่น, คุณเทพชัย หย่อง, คุณกะลาแมร์ พัชรศรี เบญจมาศ, คุณเต้ย จรินทร์พร จุนเกียรติ, คุณอเล็กซ์ เรนเดลล์, คุณอาเล็ก ธีรเดช เมธาวรายุทธ, พันโท วันชนะ สวัสดี, คุณน้ำชา ชีรณัฐ ยูสานนท์, คุณทศพร ศรีตุลา (หมอช้าง), คุณธงชัย ใจดี (โปรช้าง), คุณ อ้น สราวุธ มาตรทอง, คุณวูดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา, คุณกัญจนา ศิลปอาชา, คุณมาโนช พุฒตาล, คุณปลื้ม สุรบถ หลีกภัย VRZO, คุณทับทิม มัลลิกา หลีกภัย VRZO, คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา, คุณ กาย รัชชานนท์ สุประกอบ, คุณฮารุ ยามากูชิ, คุณ ออม สุชาร์ มานะยิ่ง, ดีเจ Green Wave, คุณ แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์, คุณอุ๋ย Buddha Bless, คุณชลรัศมี งาทวีสุข, คุณอารักษ์ อมรศุภศิริ, คุณพัฒนพล กุญชร ณ อยุธยา, คุณนัทธชา สุนทรวิเนตร์, คุณศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา จีระแพทย์, ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล, คุณชนาธิป สรงกระสินธ์ (เมสซี่ เจ), คุณรัชนก อินทนนท์, คุณอรพรรณ อาจสมรรถ, คุณโสภณ ศักดาพิสิษฐ์, คุณสินจัย เปล่งพานิช,?คุณฉัตรชัย เปล่งพานิช, คุณสิทธิโชค เปล่งพานิช, คุณทิชากร เปล่งพานิช, คุณพีรดนย์ เปล่งพานิช, คุณกบ เสาวนิตย์ นวพันธ์, คุณศรัณยา สาธุกิจชัย, คุณกรุณา วัจนพุกกะ, นักแสดงจากละครน้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์, บิวตี้ bloggers และ แฟนเพจโซเชียลมีเดียเช่น ทูนหัวของบ่าว, มะขวิด, จอนนี่แมวศุภลักษณ์, เบ๊น อาปาเช่, คนอะไรเป็นแฟนหมี เป็นต้น
ปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดมากมายเกี่ยวกับงาช้าง เช่น งาช้างสามารถงอกใหม่ได้ตลอด หรือการตัดงาไม่ทำให้ช้างตาย แต่แท้ที่จริงเเล้วการฆ่าช้างเพื่อเอางานั้นจำเป็นที่ต้องผ่ากระโหลกช้างและถอดงาทั้งกิ่งเพื่อให้ได้ราคาดี งาช้างไม่สามารถงอกใหม่หากถูกถอดงา และมีคุณสมบัติทางเคมีไม่ต่างอะไรกับฟัน “สิ่งที่คนไทยทุกคนทำได้ คือ หยุดคิดว่าเราเป็นแค่คนตัวเล็กๆ จะสามารถแก้ปัญหาระดับโลกอย่างนี้ได้อย่างไร ทุกคนต่างก็ช่วยได้ ขอเชิญชวนคนไทยทุกคนแสดงพลังผ่านแคมเปญ ช.ช้าง ช่วยช้างนี้ และแสดงออกถึงความรักที่มีต่อช้างที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของคนไทยทุกคน โดยการให้คำมั่นว่าจะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง และบอกต่อไปยังเพื่อนและครอบครัวว่า การรักช้างให้ถูกวิธี คือ การให้งาอยู่ที่ตัวช้าง” ผู้จัดการโครงการรณรงค์การต่อต้านการค้างาช้าง, WWF-ประเทศไทย กล่าว
ในวันที่ 15 มกราคม ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยจะต้องส่งรายงานความคืบหน้าตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ ต่อคณะกรรมาธิการไซเตส หลังจากที่ได้ยื่นเสนอแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทยต่อคณะกรรมาธิการไซเตส เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประเทศไทยจะมีเวลาถึงวันที่ 31 มีนาคม 2558 ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอย่างเข้มข้น มิฉะนั้นประเทศไทยจะเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรทาง การค้าในกลุ่มสินค้าภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) อันนำรายได้มาสู่ประเทศ เช่น กล้วยไม้และหนังจระเข้ เป็นต้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit