นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง “พิธีทำลายสินค้าปศุสัตว์ซึ่งนำเข้าโดยผิดกฎหมาย” ณ ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์ บางกระดี จังหวัดปทุมธานี ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายนโยบายเร่งด่วนให้กรมปศุสัตว์ในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรคระบาด จากสัตว์สู่คนและสัตว์สู่สัตว์ ตลอดจนควบคุมกำกับดูแล การนำเข้า นำออก นำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสินค้าปศุสัตว์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการกำหนดมาตรฐานหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการควบคุมการผลิตการนำเข้า นำออก นำผ่าน สัตว์และซากสัตว์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมไปถึงการดำเนินงานและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
นายปีติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า กองสารวัตรและกักกันซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินโครงการตรวจสอบสถานที่พักซากสัตว์ทั่วประเทศร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากรและหน่วยงานตำรวจ ทหาร รวมถึงการตรวจสอบสินค้าปศุสัตว์นำเข้าทางท่าเรือ สินค้าปศุสัตว์ประเภทเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม 2557 เพื่อสามารถตรวจสอบและเป็นการป้องปรามผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์จากประเทศที่กรมศุลกากรไม่อนุญาต สามารถสรุปผลการดำเนินงานได้ คือ กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและเจ้าหน้าที่ทหาร ตรวจยึดของกลางเป็นไตสุกร นำเข้าจากประเทศเนเธอร์แลนด์ 1,300 กล่อง น้ำหนัก 13,000 กิโลกรัม ด่านกักสัตว์ชลบุรีร่วมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจยึดของกลางเป็นตับ นำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้ 2,300 กล่อง น้ำหนัก 23,000 กิโลกรัม และด่านกักสัตว์กรุงเทพฯ ทางน้ำร่วมกับเจาหน้าที่ศุลกากรตรวจยึดของกลางเป็นเครื่องในโค นำเข้าจากประเทศอินเดีย 4,935 กล่อง น้ำหนัก 49,355 กิโลกรัม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคเนื้อสัตว์ภายในประเทศต่อมาตรการและแนวทางการควบคุม การนำเข้า นำออก นำผ่านสินค้าปศุสัตว์ และเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรคสัตว์จากสินค้าปศุสัตว์ที่กระทำผิดดังกล่าว กรมปศุสัตว์ จึงได้จัดให้มีการทำลายของกลางซึ่งผ่านกระบวนการตัดสินของศาล ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พุทธศักราช 2499 มาตรา 10(2) จำนวนกว่า 8,500 กล่อง น้ำหนักรวมกว่า 85,000 กิโลกรัม
“ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีแนวโน้มความต้องการการบริโภคสินค้าปศุสัตว์เพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็มีความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ที่มีคุณภาพปลอดภัย ได้มาตรฐานทางด้านสุขอนามัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตสินค้าภาคเกษตรที่สำคัญ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ผู้บริโภคกว่า 600 ล้านคนทั่วโลกนี้เกิดความเชื่อมั่น เชื่อถือ และยอมรับในความปลอดภัยได้มาตรฐานของสินค้าปศุสัตว์ไทย อันจะนำมาซึ่งรายได้ของพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ และส่งผลอย่างมหาศาลในด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต” นายปีติพงศ์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit