จากข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรค โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าตลอดทั้งปี 2557 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษ 133,946 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสุงสุด 3 อันดับแรก คือ หนองบัวลำภู (647.83 ต่อแสนประชากร) หนองคาย (616.66 ต่อแสนประชากร) และอุดรธานี (592.44 ต่อแสนประชากร) ตามลำดับ
ส่วนสถานการณ์ในปี 2558 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1-19 มกราคม 2558 พบผู้ป่วยแล้ว 4,181 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต ซึ่งกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี เช่นเดียวกับ ปี 2557 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 25-34 ปี และ45-54 ปี ตามลำดับ อาชีพส่วนใหญ่ เป็นนักเรียน ร้อยละ 27.5 จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 3 อันดับ อันดับแรกคือ ลําพูน (59.06 ต่อแสนประชากร) รองลงมาคือ อุดรธานี (24.08 ต่อแสนประชากร) และ ศรีสะเกษ (16.66 ต่อแสนประชากร) ตามลำดับ
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเมนูที่มักเป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษที่พบได้ทุกปี มี 10 เมนู ได้แก่ 1. ลาบและก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ 2. ยำกุ้งเต้น 3. ยำหอยแครง 4. ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5. อาหารและขนม ที่ราดด้วยกะทิสด 6. ขนมจีน 7. ข้าวมันไก่ 8. ส้มตำ 9. สลัดผัก 10. น้ำแข็ง โดยเฉพาะกรณีอาหารที่ทำในปริมาณมาก เช่น อาหารกล่องแจกนักเรียนหรือคณะท่องเที่ยว
ในปีนี้กรมควบคุมโรค เน้นเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษที่เกิดกับนักเรียนทั้งในโรงเรียนและกรณีนักเรียนเข้าค่ายและทัศนศึกษา ซึ่งเน้นการป้องกันโดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความรู้แก่ครูในโรงเรียน และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ควบคุมโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน ดังนี้ 1.จัดระบบโรงอาหารในโรงเรียน โดยการกำกับติดตามให้ผู้ประกอบการหรือนักการภารโรง ให้ดำเนินการตามมาตรฐานการสุขาภิบาลอาหาร 2.มีการตรวจรับนมที่มีคุณภาพและตรวจสอบความปลอดภัยของนมก่อน และเก็บรักษาอย่างถูกวิธี 3. อาหารบริจาค อาหารที่มาในรูปแบบของอาหารกระป๋องหรืออาหารที่ปรุงสำเร็จแล้ว ควรตรวจสอบคุณภาพก่อนที่จะนำไปรับประทาน 4.อาหารในกรณีนักเรียนเข้าค่ายหรือทัศนศึกษา ควรเลือกจากร้านอาหารที่สะอาดตามเกณฑ์มาตรฐาน Clean Food Good Taste อาหารที่ใส่กล่องไม่ควรราดบนข้าวโดยตรง ควรแยกบรรจุกับข้าวในถุงพลาสติกต่างหาก หรือเป็นอาหารประเภทแห้งๆ และควรบริโภคภายใน 4 ชั่วโมง ที่สำคัญบนกล่องบรรจุอาหาร ต้องติดป้ายแสดงสถานที่ วัน/เวลาที่ผลิต และวันเวลาที่ควรบริโภค 5.พืชพิษ อาหารเป็นพิษจากการกินเมล็ดสบู่ดำ แนะนำไม่ให้นำเมล็ดสบู่ดำมารับประทาน และ 6.การดูแลรักษาเบื้องต้น ประสานส่งต่อ และการสื่อสารความเสี่ยงเมื่อพบนักเรียนป่วยหรือเกิดเหตุการณ์ระบาดในโรงเรียน
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอสม. เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ หากเกิดการระบาดของโรค กรมควบคุมโรคร่วมกับกรมอนามัยลงพื้นที่สอบสวนโรค หาสาเหตุและควบคุมโรค รวมถึงตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ในส่วนของประชาชนทั่วไป ก่อนการรับประทานอาหารทุกครั้งขอให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ดังนี้ 1. กินสุกร้อน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารข้ามมื้อให้อุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อน 2. ใช้ช้อนกลาง ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมกับผู้อื่น และ 3.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและภายหลังจากการใช้ห้องส้วม รวมถึงก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง ที่สำคัญประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารและดื่มน้ำให้มากขึ้น
นายแพทย์โสภณ กล่าวปิดท้ายว่า อาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษคือ มีอาการของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้งกระหายนํ้า อาจมีไข้ เป็นต้น สำหรับการช่วยเหลือเบื้องต้น ทำโดยให้สารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส หรือของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และให้อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด เป็นต้น ไม่งดอาหารรวมทั้งนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสมให้ผสมเหมือนเดิม แต่ปริมาณลดลงและให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร เมื่ออาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที และไม่ควรรับประทานยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit