นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวแสดงความชื่นชมในความพยายามและความมุ่งมั่นตั้งใจของสภาอุตสาหกรรมฯ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ที่ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมหล่อโลหะ อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีในการผลิต การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง การพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมหล่อโลหะให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางภาวะที่มีการแข่งขันภายใต้ระบบ การค้าเสรีที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน
“ประเทศไทยมีอัตราการบริโภคเหล็กสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีละ 4.5% หรือประมาณ 650,000 ตัน ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ เฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ซึ่งการบริโภคเหล็กในอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องอาศัยการหล่อโลหะ ในการนำเหล็กมาขึ้นรูปพรรณเป็นชิ้นส่วน หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตของอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมงานหล่อโลหะ ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดย่อม (SMEs) ที่กระจายตัวอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาค ดังนั้น การเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น จึงเป็นกุญแจที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมหล่อโลหะ” นายปราโมทย์ กล่าว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมหล่อโลหะ เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ อุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญและเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ และอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งต่อต้นทุนและคุณภาพในการผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ โดยข้อมูลในปี 2556 อุตสาหกรรมหล่อโลหะ มีการผลิตสินค้าและชิ้นส่วนวัตถุดิบรวมถึง 1,270,000 ตัน/ปี แบ่งเป็นจากเหล็กและเหล็กกล้า จำนวน 660,000 ตัน/ปี อลูมิเนียม จำนวน 600,000 ตัน/ปี และโลหะอื่นๆ จำนวน 10,000 ตัน/ปี ทำให้อุตสาหกรรมหล่อโลหะสามารถสร้างมูลค่าได้สูงถึงประมาณ 9 หมื่นล้านบาท/ปี
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสและศักยภาพที่จะสามารถเจริญเติบโตได้ในอนาคต มาจากพื้นฐานบุคคลกรและแรงงานที่มีทักษะฝีมือในด้านการหล่อโลหะที่ผ่านการถ่ายทอดเทคนิคและวิธีการผลิตจากรุ่นสู่รุ่น จนทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในการทำชิ้นงานโลหะต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ตลอดจนมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการใช้สินค้าและชิ้นส่วนโลหะที่มีคุณสมบัติพิเศษหรือมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาในทุกด้าน และมุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์งานโลหะไทย สู่คุณภาพและความทันสมัย ตรงกับความต้องการของตลาดสากล เพื่อให้อุตสาหกรรมหล่อโลหะของไทยมีความเจริญรุ่งเรือง และสามารถรักษาความมั่นคงของอุตสาหกรรมให้คงอยู่ควบคู่กับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ท่ามกลางความผันแปรของระบบเศรษฐกิจโลก
“ภาพรวมของอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในหลาย Supply Chain และมีขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนมากในด้านการผลิต จึงสมควรที่ภาครัฐควรให้การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมหล่อโลหะให้มีฐานการผลิตที่เข้มแข็ง ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างชาติ และเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ เป็นองค์กรภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุน และผลักดันให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมีความเข้มแข็ง ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมหล่อโลหะให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมหล่อโลหะขึ้น เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 43 ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเชื่อมั่นว่า ด้วยความรู้ ความสามารถของ นายพัฒนศักย์ ฮุ่นตระกูล ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ประกอบกับความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของสมาชิกกลุ่มฯ จะสามารถนำพากลุ่มอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ และมีความเจริญก้าวหน้าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมหล่อโลหะในภูมิภาคอาเซียนต่อไป” ประธาน ส.อ.ท. กล่าว
ด้าน นายพัฒนศักย์ ฮุ่นตระกูล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ส.อ.ท. กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมหล่อโลหะ มีความเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งกลุ่มฯ ในครั้งนี้ เป็นอีกก้าวของความสำเร็จครั้งสำคัญ ในการรวมตัวของผู้ประกอบการที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ให้ก้าวไกล และมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล และจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งในการติดต่อประสานงานกับภาครัฐ ภาควิชาการ และการพัฒนาของอุตสาหกรรมอื่นในห่วงโซ่อุปทาน ในการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถแข่งขันในตลาดโลกท่ามกลางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจหลายๆ กรอบความตกลงได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมหล่อโลหะ เสริมสร้างมิตรภาพ ความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีในหมู่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน อีกทั้งรักษาและปกป้องผลประโยชน์และเสถียรภาพของอุตสาหกรรมในประเทศให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพและอำนาจต่อรองในการเจรจาระหว่างประเทศ และยกระดับเทคโนโลยีการหล่อโลหะให้ได้มาตรฐานสากล
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการ และสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมหล่อโลหะ จำนวน 38 ราย(สมาชิกสามัญ 32 ราย สมาชิกสมทบนิติบุคคล 6 ราย) จะร่วมกันสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสมาชิกอื่น ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และร่วมมือกันทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพในการผลิต และพัฒนาอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะเพื่อประโยชน์ของกลุ่มฯ แต่จะพิจารณาถึงผลกระทบ และความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศไทย อันเป็นภารกิจหลักของกลุ่ม เพื่อตอบสนองเป้าหมายการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของสมาชิกกลุ่มฯ จะสามารถนำพากลุ่มอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามเป้าหมาย บรรลุวัตถุประสงค์ และมีความเจริญก้าวหน้าเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit