หลังจากรอคอยกันมาอย่างยาวนาน ในที่สุดธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบีก็ตัดสินใจประกาศใช้มาตรการคิวอีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยอีซีบีประกาศว่าจะเริ่มการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และเมื่อรวมกับตราสารหนี้ภาคเอกชนซึ่งเริ่มซื้อมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน หรือคิดเป็นประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยจะเริ่มในเดือนมีนาคม ไปอย่างน้อยจนถึงเดือนกันยายนปีหน้า นั่นหมายความว่าอีซีบีจะอัดฉีดเงินเข้าระบบถึง 1.1 ล้านล้านยูโร หรือประมาณ 40 ล้านล้านบาท (คิดเป็นเกือบ 4 เท่าของจีดีพีไทยต่อปี) เป็นอย่างน้อย
ก่อนอื่นจะขอท้าวความซักเล็กน้อยว่าเหตุใดอีซีบีต้องทำการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล ปัจจัยหลักๆ ก็คือเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อค่อยๆ ปรับลดลงมาเรื่อยๆ จนฟางเส้นสุดท้ายคือเงินเฟ้อที่พลิกไปอยู่ในโซนลบที่ร้อยละ 0.2 ในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วเหตุใดอีซีบีถึงไม่ออกมาทำอะไรก่อนหน้านี้ ทำไมถึงต้องรอให้เกิดภาวะเงินฝืดก่อน ที่จริงแล้วอีซีบีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ยลงจนเหลือร้อยละ 0.05, การดำเนินนโยบาย Targeted Longer-term Refinancing Operations (TLTROs) รวมถึงการเข้าซื้อ Covered Bonds และ Asset-backed Securities (ABS) อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งหมดถูกวิจารณ์ว่าไม่เพียงพอต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจยุโรป จนมาถึงคิวของไพ่ใบสุดท้ายซึ่งก็คือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลนั่นเอง
มาตรการคิวอีของยุโรปล่าสุดนับว่ามีขนาดที่สมน้ำสมเนื้อทีเดียว โดยเมื่อเทียบกับคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งเคยเข้าซื้อสินทรัพย์สูงถึง 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ถึงแม้เมื่อเทียบเม็ดเงินโดยตรง คิวอีของอีซีบีจะน้อยกว่าของเฟดประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน แต่หากนำขนาดของเศรษฐกิจมาพิจารณาร่วมด้วย จะพบว่ามาตรการคิวอีของอีซีบีมีขนาดใหญ่กว่าของเฟดเล็กน้อย โดยปริมาณการเข้าซื้อต่อเดือนของอีซีบีอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของจีดีพีของยูโรโซน สูงกว่าของเฟดที่ร้อยละ 0.5 ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงมองว่าการขยับครั้งใหญ่ของอีซีบีในครั้งนี้ น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในยูโรโซนได้ไม่มากก็น้อย
แน่นอนว่าเมื่ออีซีบีออกมาตรการที่มีขนาดใหญ่ขนาดนี้ ย่อมมีผลต่อตลาดการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหลังการประกาศ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงในทันทีมาอยู่ที่ 37 บาทต่อยูโร จากระดับประมาณ 37.8 บาทต่อยูโรก่อนมีการประกาศ และจากระดับ 40 บาทในช่วงต้นปี สำหรับในระยะถัดไป ศูนย์วิเคราะห์ฯ ยังคงมองว่าค่าเงินยูโรจะมีแนวโน้มอ่อนค่า จากเม็ดเงินที่จะทยอยไหลเข้ามาในอนาคต โดยเราประเมินว่าเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาน่าจะไหลเข้าไปในตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากนักลงทุนยังต้องระวังความเสี่ยงที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี โดยทางศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาน่าจะอยู่ในระดับสูงถึง 4 หมื่นล้านบาทต่อเดือนโดยเฉลี่ย เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3 พันล้านบาทต่อเดือนในช่วงท้ายของปีที่แล้ว กดดันให้ผลตอบแทน (yield) ของตราสารหนี้ยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit